การศึกษาความเชื่อเรื่องขุนเลิศโภคารักษ์กับจริยธรรมเชิงพุทธของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

Authors

  • สิตานันท์ ชะนะนาค สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต 83000
  • พรรณวดี ขำจริง สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต 83000

Abstract

การศึกษาวิจัยเรื่อง “การศึกษาความเชื่อเรื่องขุนเลิศโภคารักษ์กับจริยธรรมเชิงพุทธของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต”มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงความเชื่อเรื่องการบนบานและการใช้ของแก้บนผู้ที่มาแก้บนอนุสรณ์สถานขุนเลิศโภคารักษ์ ซึ่งประดิษฐานในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต และเพื่อศึกษาจริยธรรมเชิงพุทธของการบนบาน กรณีศึกษาการบนบานต่ออนุสรณ์สถานขุนเลิศโภคารักษ์ ทำการศึกษาเชิงคุณภาพ วิเคราะห์ข้อมูลแบบความเรียงมีขอบเขตกลุ่มประชากรคือประชากรที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ ได้แก่ นักศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตวิทยาเขตภูเก็ตที่มาแก้บนบริเวณอนุสรณ์สถานขุนเลิศโภคารักษ์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

ผลการวิจัย พบว่า ผู้บนบานจะขอบนบานในเรื่องการเรียน ขอให้การสอบต่างๆผ่านไปได้ด้วยดี ขอให้มีงานที่ดีทำหลังสำเร็จการศึกษา หรือคณะอาจารย์ที่ไปบนบานในเรื่องความปลอดภัยไม่ให้เกิดอุปสรรคในการทำกิจกรรมที่จัดขึ้น เป็นต้น หลักการการ บนบานนั้น ผู้ที่ต้องการจะบนบานขุนเลิศโภคารักษ์จะต้องจุดธูป 9 ดอก เทียน 2 เล่มในการบนบาน หรือบางคนอาจจะไหว้บนบานด้วยปากเปล่าโดยไม่ใช้ธูปหรือเทียนในการไหว้ สำหรับการแก้บนนั้น หากกิจดังกล่าวสำเร็จตามความต้องการต้องไปแก้บนตามที่   บนบานไว้ โดยการนำเครื่องเซ่นไหว้ตามที่ได้บอกกล่าวไว้ตั้งแต่ต้นมาถวายแก้บนต่อขุนเลิศโภคารักษ์ หรือหากใครบนว่าจะแก้บนด้วยการกระทำต่างๆ ก็ต้องไปปฏิบัติตามการกระทำนั้นๆที่ได้บนไว้ ซึ่งสิ่งของที่นำมาใช้ในการแก้บนกับขุนเลิศโภคารักษ์จะแก้บนด้วยอาหารคาวหวาน ผลไม้ พวงมาลัย ดอกไม้ โดยอาหารหรือขนมที่นำมาแก้บนขุนเลิศโภคารักษ์นั้น จะเป็นอาหารหรือขนมพื้นเมืองของชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดภูเก็ต เช่น อั่งกู้หรือขนมเต่า ขนมเต้าซ้อ บ๊ะจ่าง เป็นต้น หากเป็นผลไม้และพวงมาลัยส่วนใหญ่จะแก้บนด้วยผลไม้และพวงมาลัยสด หรือสำหรับบางคนอาจจะแก้บนด้วยการปฏิบัติตามการกระทำที่ได้บนไว้ เช่น หากบนไว้ว่าถ้าสอบผ่านหมดทุกวิชา จะมาแก้บนด้วยการวิ่งรอบวงเวียนภิรมย์รัตน์ รอบขุมเหมือง หรือรอบมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เป็นต้น แม้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมพุทธแต่ก็ยังมีเรื่องพิธีกรรมการบนบานอยู่ มิใช่แต่พิธีกรรมของชาวบ้านเท่านั้น แม้แต่พิธีกรรมที่เป็นของพระพุทธศาสนาศาสนาโดยเฉพาะ ก็ยังมีพิธีกรรมนี้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยทั้งนั้น ซึ่งสอดคล้องกับการเปรียบเทียบสังคมกับต้นไม้ ทั้งมีสะเก็ด กะพี้ และแก่น สังคมพุทธมีการยืดหยุ่นตามสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและทางสังคม ยืดหยุ่นตามเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมเชิงพุทธ ถือพิธีบนบานด้วยสติบนพื้นฐานจริยธรรมเชิงพุทธ 3 ระดับ คือ ระดับต้นได้แก่ ศีล 5 ระดับกลาง ได้แก่ กุศลกรรมบถ 10 ประการ และระดับสูงได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ประการ

Downloads