ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการ การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ของผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ต

Authors

  • ธีรยุทธ คงขาว สาขาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต 83000
  • พรรณวดี ขำจริง สาขาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต 83000

Abstract

การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการทำวิจัยเพื่อศึกษาขั้นตอนการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และเพื่อศึกษาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ของผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ต โดยกลุ่มตัวอย่างที่นำมาวิเคราะห์ข้อมูลเป็นกลุ่มผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ตจำนวน 10,687 คน ดังนั้นขนาดกลุ่มตัวอย่างและการวิเคราะห์ข้อมูลผู้วิจัยจึงใช้ขนาดกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 382 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยค้นคว้าข้อมูลจากหนังสือ วารสาร สิ่งพิมพ์ บทความ เอกสาร รายงานการวิจัย และแบบวัดความรู้ที่มีความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.99 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป สถิติที่ใช้ในการเก็บรวบรวม คือ ความถี่ และร้อยละ เป็นสถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล ผลการวิจัยพบว่า

1) ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 พบว่าขั้นตอนการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวจะต้องมีการตรวจสุขภาพ ณ โรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยชำระค่าตรวจสุขภาพ และประกันสุขภาพ ต้องมีการชำระค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน เมื่อแรงงานต่างด้าวผ่านการตรวจสุขภาพ โดยชำระค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน ณ จุดบริการชำระเงิน (Counter Service) หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด ซึ่งเอกสารประกอบการขออนุญาตทำงาน แบบคำขออนุญาตทำงาน (ตท.8) พร้อมเอกสารประกอบคำขอ โดยผู้ประกอบการจะต้องนำเอกสาร หลักฐานที่เตรียมไว้ยื่นกับเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ซึ่งอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเปลี่ยนนายจ้าง เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการจดทะเบียนภายใต้เงื่อนไข ได้แก่ นายจ้างเลิกจ้างแรงงานต่างด้าว นายจ้างเลิกกิจการ/หรือเลิกการทำงานในส่วนที่ต้องใช้แรงงาน นายจ้างกระทำทารุณกรรม นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง / ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนายจ้างรายเดิมที่กระทำทารุณกรรม ไม่จ่ายค่าจ้าง/ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ตามกฎหมายที่บัญญัติขั้นสูงสุด และไม่อนุญาตให้จ้างแรงงานต่างด้าวเป็นเวลา 2 ปี

2) ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ของผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ต ผลการวิจัยพบว่า ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวมีระดับความรู้ในเกณฑ์มากกว่าร้อยละ 80 ว่าด้วยเรื่องของนายจ้างจะต้องพาแรงงานต่างด้าวมาทำทะเบียนประวัติ พิมพ์ลายนิ้วมือและออกเอกสาร ท.ร. 38/1, แรงงานกิจการแปรรูปสัตว์จะได้ใบอนุญาตทำงานเล่มสีน้ำเงิน, แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อทำงานจำเป็นและเร่งด่วนมีระยะทำงานไม่เกินสิบห้าวัน และขั้นตอนในการดำเนินการขอใบอนุญาตคือ ตรวจสุขภาพ ชำระค่าธรรมเนียม ขออนุญาตทำงาน ณ One Stop Service และในระดับความรู้ในเกณฑ์น้อยกว่าร้อยละ 40 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังมีความรู้ความเข้าใจน้อย ว่าด้วยเรื่องของในกรณีที่นายจ้างเป็นผู้นำแรงงานต่างด้าวมาทำงานจะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี, ผู้รับใบอนุญาตคือคนต่างด้าวซึ่งได้รับใบอนุญาตในการทำงานในราชอาณาจักรอย่างถาวร, และอัตราค่าธรรมเนียมในการขอต่ออายุใบอนุญาตนำแรงงานต่างด้าวมาทำงาน ครั้งละ 30,000 บาท จึงสรุปได้ว่าอาจเป็นเพราะขั้นตอนในการดำเนินการมีความยุ่งยากประกอบกับผู้ประกอบการไม่สะดวกและไม่เข้าใจในขั้นตอนดังกล่าว ดังนั้นจึงควรมีการส่งเสริม แนะแนวเกี่ยวกับขั้นตอนการขึ้นทะเบียนของแรงงานต่างด้าวต่อผู้ประกอบการที่ประสงค์จะจ้างแรงงานต่างด้าวเข้าทำงาน หรือบุคคลที่มีความสนใจได้ศึกษาและเรียนรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและเพิ่มประสิทธิผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

Downloads