ผลสัมฤทธิ์การเรียนของนักศึกษาพยาบาลในการให้สุขศึกษาเรื่อง ความปลอดภัยทางอาหารในสตรีตั้งครรภ์

Authors

  • เกสรา ศรีพิชญาการ ศูนย์วิจัยทางการผดุงครรภ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200
  • บังอร ศุภวิทิตพัฒนา ศูนย์วิจัยทางการผดุงครรภ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200

Abstract

อาหารปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์และมลพิษมีผลกระทบต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์และอาจจะทำให้เกิดความผิดปกติแต่กำเนิด แต่การให้สุขศึกษาแก่สตรีตั้งครรภ์ยังไม่รวมเรื่องอาหารปลอดภัย ผู้วิจัยซึ่งเป็นผู้สอนจึงจัดประสบการณ์ให้นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3 จำนวน 65 คน ได้ให้สุขศึกษาเรื่องนี้แก่สตรีตั้งครรภ์เป็นกลุ่มๆ ละ 5-7 คน นักศึกษาให้สุขศึกษา 1 หัวข้อๆ ละ 10 นาที จาก 4 หัวข้อ คือ 1) อันตรายของอาหารปนเปื้อน 2) อาหารปลอดเชื้อจุลินทรีย์ 3) อาหารปลอดสารตะกั่วและปรอท และ 4) ผักผลไม้ปลอดสารพิษ วิธีการให้สุขศึกษาหลักคือการอธิบายโดยมีสื่อประกอบอันได้แก่ หุ่นอาหาร ตัวอย่างภาชนะและน้ำยาล้างผักผลไม้ และรูปภาพ นอกจากนั้นให้ใช้วิธีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประกอบบ้าง อาจารย์มีการเตรียมความรู้ให้นักศึกษาในช่วงปฐมนิเทศ ก่อนฝึกปฏิบัติเตรียมความพร้อมทั้งด้านความรู้ ทัศนคติ และทักษะ ด้วยการสาธิตแล้วให้นักศึกษาฝึกบทบาทสมมติ ให้ข้อมูลป้อนกลับ ขณะให้สุขศึกษาอาจารย์อยู่ด้วยตลอดเพื่อให้กำลังใจและแน่ใจว่าเนื้อหาที่ให้ถูกต้อง ตลอดจนสังเกตทักษะการให้สุขศึกษา หลังจากให้สุขศึกษามีการอภิปรายเพื่อให้ข้อมูลป้อนกลับแล้วประเมินผลตามแบบประเมินผลของกระบวนวิชา ส่วนนักศึกษาที่เข้าร่วมวิจัยซึ่งทุกคนสมัครใจ มีการประเมินผลสัมฤทธิ์การเรียน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน พบว่านักศึกษามีคะแนนความรู้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคือจาก 51.6 เป็น 84.8 คะแนน (SD=14.5, =12.2, Z=6.865, p=.000) ภายหลังให้สุขศึกษานักศึกษามีคะแนนทัศนคติและทักษะอยู่ในระดับดีมากคือ 89.9 และ 81.6 คะแนน (SD=10.5, 11.8) ตามลำดับ และพบว่าคะแนนทัศนคติและทักษะสัมพันธ์กัน (r=.298 p=.016)  ข้อเสนอแนะคือ ควรกำหนดให้เรื่องอาหารปลอดภัยเป็นหัวข้อหนึ่งสำหรับให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติให้สุขศึกษาแก่สตรีตั้งครรภ์ ควรมีการพัฒนาสื่อเทคโนโลยีมาใช้ประกอบการให้สุขศึกษาของนักศึกษา ควรพัฒนาวิธีการสอนและสื่อที่ช่วยเพิ่มพูนทักษะการพูดคุยแลกเปลี่ยน มีการวิจัยทางคลินิกเพื่อประเมินประสิทธิผลในสตรีตั้งครรภ์

Downloads

Published

2019-03-27