การคงอยู่ของนาข้าวในพื้นที่ราบชายฝั่งทะเล กรณีศึกษา : ตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล

Authors

  • ยุวรรณา ทองมั่น สาขาวิชาภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการเชิงพื้นที่ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ อำเภอเมือง จังหวังสงขลา 90000
  • นิสากร กล้าณรงค์ สาขาวิชาภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการเชิงพื้นที่ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 90000
  • ครองชัย หัตถา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยทักษิณ อำเภอเมือง จังหวังสงขลา 90000

Abstract

งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการคงอยู่ของนาข้าวในพื้นที่ราบชายฝั่งทะเล ตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล โดยใช้การสัมภาษณ์แบบเจาะลึกและสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม ผู้ให้ข้อมูลหลักคือ เกษตรกรชาวนา ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหมดจำนวน 15 คน

จากการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินพื้นที่นาข้าวบริเวณที่ราบชายฝั่งทะเลตำบลแหลมสน ในระยะเวลา 27 ปี โดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Landsat-5 (ปี พ.ศ. 2532) และLandsat-8 (ปี พ.ศ. 2559) พบว่า ในปี 2532 ตำบลแหลมสนมีพื้นที่นาข้าวบริเวณที่ราบชายฝั่งทะเลประมาณ 1,011 ไร่ จากพื้นที่นาข้าวในตำบลแหลมสนทั้งหมดประมาณ 1,613 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 62     ของพื้นที่นาข้าวในตำบลแหลมสน และในปี 2559 ตำบลแหลมสนมีพื้นที่นาข้าวบริเวณที่ราบชายฝั่งทะเล ประมาณ 1,194 ไร่ จากพื้นที่นาข้าวในตำบลแหลมสนทั้งหมดประมาณ 2,075 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 57 ของพื้นที่นาข้าวในตำบลแหลมสน และพื้นที่นาข้าวบริเวณที่ราบชายฝั่งทะเล ตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล มีการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่จากการปรับพื้นที่นาข้าวเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจปาล์มน้ำมัน และยางพารา รวมทั้งพื้นที่นาทิ้งร้างจากปัญหาการขาดทุน แต่ยังคงมีพื้นที่นาข้าวบริเวณที่ราบชายฝั่งทะเลมากว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่นาข้าวทั้งหมดในตำบลแหลมสน

การคงอยู่ของนาข้าวในพื้นที่ราบชายฝั่งทะเลในตำบลแหลมสน พบว่ามีปัจจัยที่สำคัญ 3 ปัจจัย คือ 1) การปรับกายภาพของพื้นที่ เพื่อทำให้พื้นที่มีความเหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรม เนื่องจากพื้นที่นาข้าวอยู่ในบริเวณพื้นที่ราบชายฝั่งทะเล ชาวนาจึงมีการปรับพื้นที่โดยการสร้างคันดินเพื่อแก้ปัญหาน้ำทะเลรุกล้ำ การขุดลอกคลองเพื่อระบายน้ำเค็มออกจากพื้นที่นาข้าว และการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อกักเก็บน้ำจืดไว้ใช้ในพื้นที่ในช่วงที่แล้ง 2) ปัจจัยทางด้านสังคม นาข้าวในพื้นที่ชายฝั่งทะเลมีจำนวนน้อยลงเพราะการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวนาในพื้นที่ราบชายฝั่งทะเลจากการเข้าร่วมโครงการไทยเข้มแข็งปี พ.ศ. 2552 ภายใต้ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนของหน่วยงานรัฐบาล ทำให้นาข้าวบางส่วนเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันและยางพารา และการขาดทุนจากการปลูกปาล์มน้ำมัน และยางพาราเป็นสาเหตุที่ทำให้พื้นที่ถูกปล่อยทิ้งร้างหรือขายที่ดินให้นายทุน แต่ก็ยังคงมีชาวนาในตำบลแหลมสนที่ยึดถือและปฏิบัติสืบทอดการทำนาในพื้นที่ราบชายฝั่งทะเล ตามวิถีภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ มีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำนาในพื้นที่ คือ พิธีกรรมข้าวซอ (ข้าวใหม่) คือการจัดงานเลี้ยงคนที่มาช่วยทำนาและการแจกจ่ายเมล็ดข้าวให้คนในชุมชนและการบริจาคเงินเมื่อเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวถือเป็นการ ซะกาด (ทำบุญ)ของชาวนามุสลิม นอกจากนั้นชาวนาจะปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกพืชชนิดอื่นซึ่งเป็นพืชระยะสั้นนอกฤดูกาลทำนา เช่น แตงโม พริก และฟักทอง ทำให้ชาวนามีรายได้เสริมนอกจากการทำนา การปลูกพืชระยะสั้นหมุนเวียนในพื้นที่นาข้าวยังส่งผลให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ที่เกิดจากการใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยพืชสดจากการปลูกพืชชนิดอื่นในพื้นที่ ผลผลิตข้าวไร่ละ 15 - 20 กระสอบ และ 3) การยอมรับเทคโนโลยีในการผลิตของชาวนา ชาวนาในพื้นที่ใช้เครื่องจักรกล เช่น รถไถแทนแรงงานสัตว์ และการใช้รถเก็บเกี่ยวข้าวทำให้ประหยัดเวลาและทุ่นแรงงานของชาวนา รวมทั้งการเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม และทนต่อสภาพพื้นที่ นาข้าวในพื้นที่ราบชายฝั่งทะเล ตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล จึงยังเป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่ยังคงเคลื่อนไหวและมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา

Downloads

Published

2018-03-01