โครงสร้างจุลภาคและสมบัติทางกลของชิ้นงานเชื่อมเหล็กกล้าโครเมียม-โมลิบดีนัมเกรด 2.25Cr-1Mo

Authors

  • สลิตา เพชรสังข์ สถานวิจัยความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
  • ประภาศ เมืองจันทร์บุรี ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110

Abstract

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาชนิดของลวดเชื่อมต่อที่มีต่อโครงสร้างจุลภาคและความแข็งแรงดึงในชิ้นงานเชื่อมวัสดุเหล็กกล้าโครเมียม-โมลิบดีนัมเกรด 2.25Cr-1Mo ซึ่งทำการเชื่อมด้วยกระบวนการเชื่อมทิก (TIG) โดยมีการใช้ลวดเชื่อมทั้งหมด 2 ชนิด คือ ลวดเชื่อมชนิด ER90S-B3 และ ERNiCrMo-3 และทำการให้ความร้อนหลังการเชื่อมที่อุณหภูมิ 690 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที จากผลการวิจัยพบว่า บริเวณเนื้อโลหะเชื่อมเมื่อใช้ลวดเชื่อม ER90S-B3 ประกอบด้วยเทมเปอร์เบนไนท์ ซึ่งมีความแข็งค่อนข้างสูง ในขณะที่เมื่อใช้ลวดเชื่อม ERNiCrMo-3 พบว่าประกอบด้วยออสเทนไนท์เป็นหลัก ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวมีความแข็งต่ำกว่าเทมเปอร์เบนไนท์ และเมื่อทำการทดสอบแรงดึงพบว่า ชิ้นงานเชื่อมเกิดความเสียหายในบริเวณเนื้อโลหะเดิม อันเป็นบริเวณที่มีความแข็งต่ำที่สุด โดยชิ้นงานที่เชื่อมด้วยลวดเชื่อมทั้งสองชนิดมีความแข็งแรงดึงใกล้เคียงกัน และมีค่ามากกว่าชิ้นงานวัสดุพื้น 2.25Cr-1Mo เล็กน้อย

Downloads

Published

2018-03-01