ปัจจัยที่มีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 โรงพยาบาลปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

Authors

  • อมรรัตน์ รักฉิม ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลปากพนัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80140
  • สงวน ลือเกียรติบัณฑิต คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
  • วรนุช แสงเจริญ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110

Abstract

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการสร้างฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายมีภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง เป็นสาเหตุให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง เช่น โรคไต โรคระบบประสาททำงานบกพร่อง รวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความสำคัญ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยจะช่วยให้ดูแลผู้ป่วยให้มีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดียิ่งขึ้น

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่2 ทำการศึกษาในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกเบาหวาน ณ โรงพยาบาลปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเก็บจากฐานข้อมูลใน Hosxp ย้อนหลัง 6 เดือน (1 มิถุนายน 2560 - 30 พฤศจิกายน 2560) จากการมาพบแพทย์ครั้งล่าสุด เก็บผลการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการและข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยจำนวนทั้งหมด 1,992 ราย ซึ่งแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ (HbA1c น้อยกว่าร้อยละ 7) จำนวน 883 คน และกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ (HbA1c มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 7) จำนวน 1,109 คน ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้แก่ เพศ น้ำหนัก ระดับไขมันในเลือด ความดัน ดัชนีมวลกาย อัตราการหายใจ ระยะเวลาที่เป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยสำคัญที่สัมพันธ์กับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ถึงเกณฑ์ ได้แก่ ค่า Systolic blood pressure อยู่ในช่วงมากกว่าหรือเท่ากับ 120 มิลลิเมตรปรอท (p = 0.005) ดัชนีมวลกายมากกว่า 18.5-22.9 กิโลกรัม/ตารางเมตร  (p = 0.011) high density lipoprotein มากกว่าหรือเท่ากับ 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (p = 0.06) triglyceride น้อยกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (p = 0.018) และมีประวัติเป็นโรคเบาหวานน้อยกว่า10ปี (p = 0.001)

ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ อาจเป็นประโยชน์สำหรับการเฝ้าระวัง ดูแลและติดตามผู้ป่วยโรคเบาหวานเพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีการควบคุมระดับน้ำตาลที่ดีขึ้น ส่งผลให้ชะลอโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานในอนาคตได้

Downloads

Published

2018-03-01