การศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดจากพลูคาว

Authors

  • สุทธิจิต ศรีวัชรกุล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร 10520

Abstract

จากการศึกษาสมบัติการต้านอนุมูลอิสระ ปริมาณสารประกอบฟินอลลิกทั้งหมด และสมบัติการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย ของสารสกัดจากส่วนใบ ลำต้นและรากของต้นพลูคาว เมื่อทำการวิเคราะห์สมบัติการต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH scavenging assay พบว่า สารสกัดจากส่วนรากของต้นพลูคาวมีร้อยละการดักจับอนุมูลอิสระสูงที่สุดโดยมีค่าร้อยละของการดักจับอนุมูลอิสระเท่ากับ 79.19 และมีค่า IC50 เท่ากับ 1.66 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร โดยพบว่าสารสกัดจากส่วนรากมีปริมาณสารประกอบฟินอลลิกทั้งหมดสูงที่สุด เทียบเท่ากับ 0.53 มิลลิกรัมกรดแกลลิกต่อกรัมของสารสกัด และเมื่อนำสารสกัดจากใบ ลำต้น และรากจากต้นพลูคาวที่ความเข้มข้น 100 และ 200 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตรมาทำการศึกษาการยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย 5 สายพันธุ์ ได้แก่ Staphylococcus aureus ATCC 25923, Bacillus subtilis ATCC 6633, Micrococcus luteus ATCC 9341, Escherichia coli ATCC 25922 และ Pseudomonas aeruginosa ATCC 28753 พบว่า สารสกัดจากทั้งส่วนใบ ลำต้น และรากสามารถยับยั้งการเจริญของ B. subtilis ได้ที่ความเข้มข้น 100 และ 200 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ในขณะที่สารสกัดจากส่วนลำต้น ที่ความเข้มข้น 100 และ 200 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร สามารถยับยั้งการเจริญของ M. luteus ได้ ส่วนเชื้อแบคทีเรียที่เหลืออีก 3 สายพันธุ์ไม่มีสารสกัดจากส่วนใดสามารถยับยั้งการเจริญได้ จากการทดลองพบว่า สารสกัดจากส่วนรากของต้นพลูคาวมีความสามารถในการดักจับอนุมูลอิสระได้ดีที่สุด และมีปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดสูงที่สุดเมื่อเทียบการสารสกัดจากส่วนใบและลำต้น เมื่อพิจารณาถึงฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย พบว่า สารสกัดจากพลูคาวมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียแกรมบวก คือ B. subtilis และ M. luteus ได้ ในขณะที่เชื้อแบคทีเรียแกรมลบนั้น ไม่มีสารสกัดจากส่วนใดของต้นพลูคาวสามารถยับยั้งการเจริญได้เลย

Downloads