การทำความสะอาดแบบแห้ง เพื่อกำจัดสารก่อภูมิแพ้อาหาร ชนิด แป้งสาลี นมและไข่ขาว บนพื้นผิวของเครื่องร่อนสแตนเลส

Authors

  • วิศณี สุพรรณกลาง สาขาวิชาการจัดการความปลอดภัยอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกรุงเทพมหานคร 10520
  • อพัชชา จินดาประเสริฐ สาขาวิชาการจัดการความปลอดภัยอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกรุงเทพมหานคร 10520
  • วริพัสย์ อารีกุล สาขาวิชาการจัดการความปลอดภัยอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกรุงเทพมหานคร 10520
  • อดิศร เสวตวิวัฒน์ สาขาวิชาการจัดการความปลอดภัยอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกรุงเทพมหานคร 10520
  • ประภาพร ขอไพบูลย์ ฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400

Abstract

การแพ้อาหารของผู้บริโภค เกิดจากการบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนสารก่อภูมิแพ้โดยไม่ตั้งใจ มีสาเหตุหนึ่งมาจากการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ร่วมกันในการผลิตอาหารที่มีและไม่มีส่วนผสมของสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งผู้ผลิตอาหารจำเป็นต้องหามาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการปนเปื้อนข้ามไปในสินค้า เพื่อช่วยลดปัญหาดังกล่าว การทำความสะอาดเครื่องจักรอุปกรณ์เป็นวิธีการหนึ่งของการลดการปนเปื้อนสารก่อภูมิแพ้อาหาร งานวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการทำความสะอาดแบบแห้งสำหรับเครื่องร่อน โดยวิธีการดูดฝุ่น การเช็ดด้วยเอทานอล  และการดูดฝุ่นร่วมกับการเช็ดเอทานอล เพื่อกำจัดสารก่อภูมิแพ้อาหารจากวัตถุดิบ  แป้งสาลี นม และไข่ขาว ตรวจสอบการทำความสะอาดด้วยสายตา และตรวจสอบหาโปรตีนตกค้างบนพื้นผิว ผลการวิจัยพบว่า การดูดฝุ่นตะแกรงร่อนที่กำลังไฟ 3600 วัตต์ ระยะเวลา 1 นาที ให้ผลที่ดีที่สุด สำหรับนมผงและไข่ขาวผง และระยะเวลาดูดฝุ่นที่ 5 นาที ให้ผลดีที่สุดสำหรับแป้งสาลี ส่วนการดูดฝุ่นถาดรับวัตถุดิบ ให้ผลแตกต่างกันในแต่ละวัตถุดิบ แป้งสาลี ให้ผลดีตั้งแต่การดูดฝุ่นที่ 1 นาที นมผงให้ผลดีที่สุดที่เวลา 1 นาที ส่วนไข่ขาวผง ให้ผลดีที่สุดที่ 10 นาที การเช็ดถาดรับวัตถุดิบด้วยเอทานอล พบว่า แป้งสาลี ให้ผลดีที่ความเข้มข้นเอทานอล 50 และ 70% โดยปริมาตร(v/v) นมผงและไข่ขาว ให้ผลที่ดีที่ระดับความเข้มข้น 20 และ 50% โดยปริมาตร(v/v)  ตามลำดับ  ผลการศึกษาการใช้วิธีการร่วมกัน โดยการดูดฝุ่นเป็นระยะเวลา 1 นาที ร่วมกับการเช็ดด้วยเอทานอลความเข้มข้น 50% โดยปริมาตร(v/v) สำหรับทำความสะอาดถาดรับวัตถุดิบ  พบว่า สามารถกำจัดโปรตีนได้มากขึ้นกว่าวิธีการเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้วิธีการที่เหมาะสมกับการทำความสะอาดเครื่องร่อน โดยพิจารณาเลือกวิธีการที่สามารถใช้ร่วมกันได้กับวัตถุดิบทั้ง 3 รายการ นำไปทดลองกับการใช้งานในกระบวนการผลิตสินค้าจริง ตรวจสอบปริมาณสารก่อภูมิแพ้ที่ตกค้างบนพื้นผิวหลังทำความสะอาด  พบว่า มีปริมาณสารก่อภูมิแพ้ ได้แก่ ไกลอะดินจากแป้งสาลี นมและไข่ขาวตกค้างบนพื้นผิวเครื่องร่อน 6.43 2.95 และ 3.13 มิลลิกรัม/กิโลกรัมตามลำดับ การทำความสะอาดเครื่องร่อนด้วยวิธีการดังกล่าว สามารถลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้อาหารบนพื้นผิวได้ และอยู่ในระดับที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

Downloads