การวิเคราะห์เชิงพื้นที่เพื่อพิจารณาการกำหนดจุดจอดรถและเส้นทางการให้บริการรถไฟฟ้าโทรลลีล้อยาง กรณีศึกษาเมืองพัทยา

Authors

  • ไอศูรย์ เรืองรัตนอัมพร สาขาวิชาวิศวกรรมขนส่ง สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชศรีมา 30000
  • ภาวิณี เอี่ยมตระกูล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จังหวัดปทุมธานี 12121
  • จิรวรรณ คล้ายลี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จังหวัดปทุมธานี 12121

Abstract

จากนโยบายการกำหนดนโยบายของภาครัฐ อันเป็นวิธีควบคุมทิศทางของการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งเพื่อรองรับการพัฒนาที่เชื่อมโยงทั้งภายในประเทศ และในระดับภูมิภาคสู่การสร้างศูนย์กลางของการเชื่อมโยง (Hub) ในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของประเทศ ก่อให้เกิดการขยายตัวของการไหลเวียนสินค้า ผู้คน และความมั่งคั่ง ทำให้พื้นที่จังหวัดชลบุรีเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งพัทยาเป็นหนึ่งในจุดศูนย์กลาง ดังนั้นจึงเกิดการเชื่อมต่อทั้งระบบราง ถนน คมนาคมทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งมีการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงตะวันออก-ตะวันตก (East-West Corridor) ทว่าในปัจจุบันไม่มีการศึกษาและวิเคราะห์ในด้านความคุ้มทุนในเชิงของนโยบายและการนำไปใช้ให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ในบทความนี้จึงนำเสนอในส่วนของการศึกษาแนวทางการจัดการเชิงนโยบายและมาตรการที่เหมาะสมต่อการพัฒนารถเมล์โดยสารไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกเมืองหลักของประเทศไทย โดยเป็นในส่วนของของการศึกษาและวิเคราะห์ด้านการกำหนดเส้นทางและการกำหนดจุดจอดรับ-ส่ง รถโดยสารประจำทาง ซึ่งใช้การวิเคราะห์เชิงพื้นที่ (Spatial Analysis) โดยดำเนินการศึกษาด้านปัจจัยทางกายภาพ เพื่อกำหนดจุดจอดรถรับ-ส่งของรถโดยสารโทรลีล้อยาง ซึ่งดำเนินการวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือทางภูมิศาสตร์สารสนเทศ (Geographic Information System: GIS) ด้วยวิธีการซ้อนทับของชั้นข้อมูล (Overlaying Analysis) โดยเงื่อนไขในการกำหนดจุดสถานีสำหรับการให้บริการแก่ผู้โดยสารนั้นจะพิจารณาตามเงื่อนไขของความเป็นเมือง อันได้แก่ การกระจุกตัวและการกระจายตัวของแหล่งดึงดูดการเดินทาง ความหลากหลายของกิจกรรมการใช้ประโยชน์อาคาร เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการพิจารณา โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ตัวแบบในการตัดสินใจหลายปัจจัย (Multi-Criteria Decision Analysis: MCDA) ซึ่งได้ดำเนินการสอบถามจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ อาทิ ด้านการวางแผนการคมนาคมขนส่ง ด้านการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ด้านการพัฒนาเมือง และกลุ่มนักวิจัย ภายใต้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเชิงพื้นที่

อนึ่งผลจากการวิเคราะห์เชิงพื้นที่พบว่า พื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการกำหนดเพื่อการให้บริการระบบขนส่งประเภทรถประจำทางไฟฟ้าโทรลีล้อยางนั้นจะอยู่ในเขตของพัทยาเหนือ พัทยากลาง และพัทยาใต้ โดยเป็นพื้นที่ที่มีโครงข่ายเส้นทางคมนาคมเดิม นอกจากนี้ ในเส้นทางต่างๆ ที่ได้ดำเนินการวิเคราะห์นั้นจะพบว่ามีแหล่งดึงดูดการเดินทางที่สูง อันได้แก่ พื้นที่ในเขตชายทะเลพัทยา และพื้นที่บริเวณหาดนาจอมเทียน โดยจุดจอดรถรับ-ส่งนั้นควรมีการกระจายตัวในพื้นที่บริเวณดังกล่าวด้วย เพื่อส่งเสริมการให้บริการของผู้อยู่อาศัยและนักท่องเที่ยวในเขตเมือง หากพิจารณาถึงเงื่อนไขด้านการให้บริการรถจะพบว่า พื้นที่เมืองพัทยานั้นสามารถสร้างการให้บริการรถแบบลักษณะของวงรอบ (Loop Line) ได้ โดยในงานศึกษานี้ได้กำหนดออกเป็น 4 เส้นทาง ดังนี้ คือ ได้แก่ สายที่ 1 (นาเกลือ-พัทยากลาง) สายที่ 2 (พัทยาสายหนึ่ง - พัทยากลาง - สถานีรถไฟพัทยา) สายที่ 3 (พัทยาเหนือ - พัทยากลาง - พัทยาใต้) และสายที่ 4 (นาจอมเทียน - พัทยากลาง) โนอกจากนี้ยังพบว่า จุดจอดรถ-รับส่งรถประจำทางไฟฟ้าโทรลีล้อยางที่เหมาะสมได้ทั้งสิ้น 64 จุด โดยมีจุดจอดรถรับส่งที่มีลักษณะเป็นจุดเปลี่ยนผ่าน (Interchange) ทั้งสิ้น 21 จุด

Downloads