การทดสอบเดินรถโดยสารไฟฟ้าในเส้นทางจริงเพื่อวิเคราะห์ความเหมาะสมของเส้นทาง กรณีศึกษาเมืองพัทยา

Authors

  • นุวงศ์ ชลคุป ห้องปฏิบัติการพลังงานทดแทน ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) จังหวัดปทุมธานี 12120
  • ภาวิณี เอี่ยมตระกูล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จังหวัดปทุมธานี 12121
  • จิรวรรณ คล้ายลี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จังหวัดปทุมธานี 12121

Abstract

รถบัสไฟฟ้าล้อยาง (Trolley Bus) ถือเป็นนวัตกรรมที่สำคัญทางด้านการขนส่งในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบขนส่งทางถนนนอกเหนือจากการขนส่งระบบรางที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์แรงสูง เพื่อรับมือกับการขยายตัวด้านการขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดและปัญหาวิกฤติทางด้านพลังงานที่กำลังจะหมดไป การขนส่งประเภทนี้จะช่วยประหยัดค่าน้ำมันและค่าก๊าซที่เสียไปในการเดินทาง เนื่องจากเป็นระบบขนส่งมวลชนที่ไม่มีเสียงดังรบกวน ไม่สร้างมลพิษทางอากาศ ประหยัดและมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีวิศวกรรมในยุคใหม่ทำให้สามารถนำเอาไฟฟ้าที่ใช้ปั่นมอเตอร์ขับเคลื่อนไปใช้ประโยชน์ในกลไกอื่นๆได้อีก ทำให้สามารถประหยัดพลังงานและคุ้มค่า ซึ่งในหลายประเทศได้มีการใช้รถเมล์ไฟฟ้าเพื่อรับส่งประชาชนในเขตเมือง ได้แก่ ประเทศฮ่องกง ประเทศสหราชอาณาจักร ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยประสบความสำเร็จนอกจาการลดปริมาณนายพาหนะส่วนบุคคลในเขตเมืองลงแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ที่ให้บริการด้วย ดังตัวอย่างในประเทศฮ่องกง มีการดำเนินการนำแนวคิดของการให้บริการรถเมล์ไฟฟ้ามาปรับใช้ในพื้นที่เมือง โดยผลที่ได้จากการนำรถเมล์ไฟฟ้ามาปรับใช้แล้ว ยังส่งผลต่อคุณภาพของพื้นที่ในภาพรวมด้วย ซึ่งมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เฉพาะตามแนวคิดของ Land premium เพื่อใช้กำหนดการพัฒนาได้ (Transport Bureau, 2001) นอกจากนี้ แนวคิดของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ายังสอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ.2554-2573) ที่มีเป้าหมายเพื่อการประหยัดหรือการลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น และเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานซึ่งหมายถึงการทำงานที่ได้ผลลัพธ์เท่าปกติแต่ใช้พลังงานน้อยกว่าปกติ ซึ่งการนำรถบัสไฟฟ้าล้อยางมาให้ในการคมนาคมขนส่ง จะช่วยให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานซึ่งมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงพลังงาน การลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน การลดต้นทุนการผลิตและบริการ การลดการเสียดุลการค้าและการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนการลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทว่าประเทศไทยยังไม่เคยมีการศึกษาเรื่องนี้มาก่อนถึงรูปแบบเมืองที่เหมาะสมกับการเดินรถโดยสารโทรลลีล้อยาง บทความนี้จึงนำเสนอในส่วนของการทดสอบการเดินรถในพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี อันเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในระดับโลก โดยได้ทำการยืมรถโดยสารไฟฟ้าแทนจากทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตซึ่งเป็นรถโดยสารไฟฟ้าจากบริษัท Zhongtong ประเทศจีน ซึ่งได้ทดสอบระหว่างวันที่ 14-15 กรกฎาคม 2561 โดยแบ่งเป็นการทดสอบวิ่งรถเปล่า และรถที่บรรทุกถุงทรายที่มีน้ำหนักรวม 2,000 กิโลกรัม เพื่อนำไปสู่การประเมินความเป็นไปได้เชิงวิศวกรรม ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์และสังคม โดยทดสอบด้วยการเดินรถโดยสารไฟฟ้าทั้ง 4 เส้นทางอันได้แก่ สายที่ 1 (นาเกลือ - พัทยากลาง) สายที่ 2 (พัทยาสายหนึ่ง - พัทยากลาง - สถานีรถไฟพัทยา) สายที่ 3 (พัทยาเหนือ - พัทยากลาง - พัทยาใต้) และสายที่ 4 (นาจอมเทียน - พัทยากลาง) ได้มีการบันทึกเวลาที่ใช้เดินทางระหว่างป้าย และมีการเปิด-ปิดประตูเพื่อจำลองการหยุดรับส่งผู้โดยสาร โดยใช้เวลาประมาณ 30 วินาที ตลอดจนทำการบันทึกปริมาณประจุไฟฟ้าที่เหลืออยู่ (%SOC, State of Charge) ในแบตเตอรี่รถยนต์ โดยผลการศึกษาที่คาดหวังจากการศึกษาครั้งนี้คือ การพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของการนำนโยบายด้านการส่งเสริมการพัฒนารถเมล์ไฟฟ้าในประเทศไทย รูปแบบการพัฒนาและความคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ของการใช้รถเมล์ไฟฟ้าในประเทศไทย

Downloads