การประเมินฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญของเครื่องเคียงไทยบางชนิด

Authors

  • ถาวรีย์ วิบูลย์วัฒน์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กรุงเทพมหานคร 10220
  • พนิดา แสนประกอบ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กรุงเทพมหานคร 10220

Abstract

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาการออกฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดเครื่องเคียงไทยบางชนิด ได้แก่กระโดน (Barringtonia acutangula (L.), ผักเสี้ยน (Cleome gynandra Linn.), ชะมวง (Garcinia cowa Roxb.), ส้มลม (Aganonerion polymorphum.) และสมอไทย (Terminalia chebula Retz.) โดยเป็นสมุนไพรท้องถิ่นพบในประเทศไทยและนิยมนำมารับประทานเป็นผักเครื่องเคียง งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ศึกษาสารพฤกษเคมีเบื้องต้น 2) ศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพต่าง ๆ ได้แก่ ศึกษาฤทธิ์การต้านออกซิเดชัน ด้วยวิธี DPPH radical scavenging, การวิเคราะห์ปริมาณสารประกอบฟีนอลิกรวมด้วยวิธี Folin-ciocalteau reagent, และการศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส โดยสมุนไพรไทยทั้ง 5 ชนิด สกัดด้วย 95 เปอร์เซนต์ เอทานอล ผลการวิจัยพบว่า สารสกัดส้มลมมีผลผลิตร้อยละมากที่สุดถึง 31.20 เปอร์เซนต์ ส่วนสารสกัดที่มีผลผลิตร้อยละน้อยที่สุด ได้แก่ สมอไทย (5.59 เปอร์เซนต์) จากการศึกษาสารพฤกษเคมีเบื้องต้นของสารสกัดหยาบเอทานอลจากเครื่องเคียงไทย 5 ชนิด พบว่า สารสกัดกระโดน ส้มลมและชะมวงพบสารในกลุ่มซาโปนิน ฟีนอล ฟลาโวนอยด์และแอลคาลอยด์เป็นองค์ประกอบ ส้มมอพบฟีนอล ฟลาโวนอยด์และแอลคาลอยด์เป็นองค์ประกอบ และผักเสี้ยนพบซาโปนินและฟลาโวนอยด์เท่านั้น การทดสอบฤทธิ์ต้านออกซิเดชันพบว่า สารสกัดใบอ่อนของสมอไทยมีความสามารถต้านอออกซิเดชันได้มากที่สุด โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.04±0.00 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ในขณะที่สารสกัดผักเสี้ยนมีความสามารถต้านออกซิเดชันได้น้อยที่สุด (IC50 = 2.75±1.14 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร) การวิเคราะห์ปริมาณสารประกอบฟีนอลิกรวมด้วยวิธี Folin-ciocalteau reagent พบว่า สารสกัดกระโดนมีปริมาณสารประกอบฟีนอลิกมากที่สุดเท่ากับ 150 ไมโครกรัมแกลลิคแอซิดต่อมิลลิกรัมของสารสกัด และผักเสี้ยนพบปริมาณน้อยสุดเท่ากับ 30.77 ไมโครกรัมแกลลิคแอซิดต่อมิลลิกรัมของสารสกัด และการศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส สารสกัดเครื่องเคียงไทยทั้ง 5 ชนิด ถูกทดสอบที่ความเข้มข้น 0.05 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร พบว่า สารสกัดมีความสามารถยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสตั้งแต่ 53.71%-61.14% โดยส้มลมสามารถยับยั้งได้ดีที่สุด (61.14±0.63%) รองลงมาได้แก่ผักเสี้ยน (58.28±0.00%), ชะมวง (54.29±1.08%), กระโดน (54.28±0.00%) และสมอไทย (53.71±0.00%) จากผลการทดลองข้างต้น พบว่า การบริโภคใบอ่อนและยอดอ่อนของสมุนไพรหรือผักเครื่องเคียงไทยทั้ง 5 ชนิด ทำให้ผู้บริโภคได้รับสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสารจากธรรมชาติที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค นอกจากการทานแบบสดและต้มหรือลวกในน้ำ การหมักดองผักเครื่องเคียงก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้ผู้บริโภคได้รับสารที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพเช่นเดียวกัน และนอกจากนี้ใบอ่อนและยอดอ่อนของผักเครื่องเคียงไทยทั้ง 5 ชนิด ยังสามารถนำไปพัฒนาและใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเกี่ยวกับการบำรุงผิวพรรณได้อีกด้วย

Downloads