ผลของการปรับปรุงคุณภาพปุ๋ยหมักผักตบชวาด้วยไส้เดือนดิน Pheretima peguana

Authors

  • กชกร ชาวเวียง สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา จังหวัดพะเยา 56000
  • วิพรพรรณ์ เนื่องเม็ก สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา จังหวัดพะเยา 56000
  • มนัส ทิตย์วรรณ สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา จังหวัดพะเยา 56000
  • บุญร่วม คิดค้า สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา จังหวัดพะเยา 56000

Abstract

ชนิดของวัสดุอินทรีย์ที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดนั้น มีผลต่อคุณภาพของปุ๋ยที่ผลิตได้อย่างชัดเจน ปุ๋ยหมักผักตบชวาจัดเป็นวัตถุดิบชนิดหนึ่งที่มีปัญหาด้านคุณภาพและข้อจำกัดด้านระยะเวลาในการหมัก การนำไส้เดือนดิน Pheretima peguana มาใช้ในการทำปุ๋ยหมักผักตบชวาจึงเป็นตัวช่วยที่สำคัญ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนจากผักตบชวาก่อนนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด การทดลองที่หนึ่ง การผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนจากผักตบชวาด้วยการใช้ไส้เดือนดิน P. peguana พบว่า การผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนที่ใช้ผักตบชวาหมักที่ระยะเวลา 30 วัน ปริมาณ 7 กิโลกรัม ร่วมกับมูลวัว 3 กิโลกรัม และใส่ไส้เดือนดิน P. peguana อัตรา 500 กรัมต่อตารางเมตร ทำให้ได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพโดยรวมที่ดีที่สุด มีการย่อยสลายที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ลักษณะเป็นเม็ด มีสีดำ ค่าความเป็นกรด-ด่างเท่ากับ 7.73 ค่าการนำไฟฟ้าเท่ากับ 1.70 เดซิซีเมนต่อเมตร ปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด ฟอสฟอรัสทั้งหมด และโพแทสเซียมทั้งหมด เท่ากับ 0.74, 2.76 และ 3.64 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และมีปริมาณไนโตรเจนในรูปแอมโมเนียม ไนโตรเจนในรูปไนเตรต เท่ากับ 99.40 และ 6.53 ppm ตามลำดับ การทดลองที่สอง ทำการปรับปรุงคุณภาพปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดที่มีปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนจากผักตบชวาเป็นส่วนประกอบ ทำการทดลองในระดับห้องปฏิบัติการ โดยใช้ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนที่ได้จากการทดลองที่หนึ่ง โดยทำการผสมกับวัตถุดิบชนิดอื่น ๆ พบว่า การผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดโดยใช้แร่ลีโอนาร์ไดต์ : หินบะซอลต์บดละเอียด : ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนจากผักตบชวา : มูลสุกร : มูลไก่ไข่ มาผสมกันในอัตราส่วน 1 : 1 : 3 : 1 : 4 ทำให้ได้ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดที่มีค่าความเป็นกรด-ด่างเท่ากับ 7.35 ค่าการนำไฟฟ้าเท่ากับ 6.00 เดซิซีเมนต่อเมตร ปริมาณอินทรียวัตถุเท่ากับ 29.85 เปอร์เซ็นต์ และปริมาณธาตุอาหารหลักที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ได้แก่ ปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด ฟอสฟอรัสทั้งหมด และโพแทสเซียมทั้งหมด เท่ากับ 1.22, 4.20 และ 3.89 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ซึ่งจะนำปุ๋ยกรรมวิธีดังกล่าวไปทำการผลิตในสายพานการผลิตของโรงงานปุ๋ยอินทรีย์เป็นลำดับต่อไป

Downloads