การกำหนดเกณฑ์ผ่านทักษะทางคลินิกโดยการสอบ Objective Structured Clinical Examination (OSCE) เปรียบเทียบระหว่างวิธี Angoff’s Method และ The Borderline Regression Method

Authors

  • เจริญพร แก้วละเอียด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา 90000
  • นันท์สัณห์ อชิรปัญญากร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา 90000

Abstract

การประเมินทักษะทางคลินิกโดยการสอบ Objective Structured Clinical Examination หรือ OSCE เป็นวิธีการจำลองสถานการณ์ทางคลินิกที่นิยมใช้เพื่อตรวจสอบความสามารถทางคลินิกของนักศึกษาแพทย์ เป็นวิธีการประเมินผลที่มีความน่าเชื่อถือ และครอบคลุมการวัดทั้งระดับความรู้ ทักษะ เจตคติและการตัดสินใจ ซึ่งถือเป็นการประเมินตามสภาพจริงจากการปฏิบัติ (Direct Observation) เพื่อให้การตัดสินผลการประเมินมีความตรง (Validity) จึงขึ้นอยู่กับวิธีการเลือกใช้เกณฑ์ผ่าน (Cut off Score) หรือเกณฑ์มาตรฐาน (Standard Setting) ที่เหมาะสม การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาทักษะทางคลินิกของนักศึกษาแพทย์โดยการสอบ OSCE จำแนกตามทักษะการเรียนรู้ (2) ศึกษาความสอดคล้องผลการประเมินเมื่อกำหนดเกณฑ์ผ่านวิธี Angoff’ s Method กับ Borderline Regression Method ทำการศึกษากับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 ที่หมุนเวียนมาปฏิบัติงานรายวิชาสุขภาพและโรคของผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ 2 (Health and Diseases of Adults and Elderly II) ปีการศึกษา 2561 จำนวน 139 คน ทำการสอบด้วยข้อสอบ OSCE จำนวน 20 สถานี ครอบคลุมทุกทักษะการเรียนรู้ ทำการวิเคราะห์ด้วยสถิติภาคบรรยาย ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) การเปรียบเทียบคะแนนในแต่ทักษะโดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way ANOVA) หากพบความแตกต่างทำการเปรียบเทียบรายคู่โดยวิธีการ Scheffe การวิเคราะห์การถดถอยอย่างง่าย (Simple Regression Analysis) และวิเคราะห์ความสอดคล้องผลการตัดสินผ่าน-ตก ทั้ง 2 วิธี โดยสถิติแคปปา (Kappa Statistics)

ผลการศึกษา พบว่า (1) นักศึกษาแพทย์มีทักษะทางคลินิกโดยภาพรวมมีคะแนนเฉลี่ยการประเมิน 69.22 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 มีทักษะการเรียนรู้แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 (p-value < .01) (2) การตัดสินผลการสอบผ่าน-ตก โดยวิธี Angoff’s Method และ Borderline Regression Method ให้ผลการประเมินสอดคล้องกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.01) ทุกสถานีสอบ โดยมีขนาดความสอดคล้องโดยภาพรวมอยู่ในระดับดี มีค่าเฉลี่ยสัมประสิทธิ์ความสอดคล้อง (Kappa) เท่ากับ 0.74  (range : 0.22 - 1.00)

Downloads