ศึกษาภาพสตรีทอาร์ตเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต

Authors

  • พนิดา ศิริกุล สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต 83000
  • พรรณวดี ขำจริง สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต 83000

Abstract

การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการทำวิจัยเพื่อศึกษาภาพสตรีทอาร์ตเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต ผลการวิจัยพบว่า ประวัติความเป็นมาของภาพสตรีทอาร์ตเริ่มต้นในเมืองนิวยอร์ก เกิดจากการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมือง และความขัดแย้งที่ค่อนข้างมีความรุนแรง เรื่องราวใกล้ตัว กระแสสังคม เหตุการณ์สำคัญ การสร้างสรรค์ผลงานหลอมรวมเข้ากับสภาพแวดล้อม สตรีทอาร์ตในประเทศไทยเริ่มโดยกลุ่มศิลปินที่ทำงานศิลปะ ในรูปแบบของงานนิทรรศการ ทำให้สตรีทอาร์ตเป็นที่รู้จัก ในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น สตรีทอาร์ตเพื่อพัฒนาพื้นที่ ช่วยปรับปรุงพื้นที่ให้มีความสวยงามมากขึ้น เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับพื้นที่รกร้าง สตรีทอาร์ตเพื่อการท่องเที่ยว ช่วยอนุรักษ์เรื่องราวและวิถีชีวิตของชาวบ้านไว้ รูปแบบในลักษณะเหมือนจริงเน้นเรื่องราวสะท้อนชีวิตของผู้คน ภาพบุคคลทำกิจกรรมต่าง ๆ

ผลการวิจัยพบว่า การนำเสนอผลงานหรือการสร้างผลงานตามผนังของตึกในแต่ละมุมของเมืองภูเก็ตเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ในรูปแบบหนึ่ง สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมประเพณีและความเป็นอยู่ของชาวภูเก็ต ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวในแต่ละจุดได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นและเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชาวภูเก็ตที่สื่อสารเรื่องราวผ่านภาพสตรีทอาร์ต โดยเนื้อหาภาพสตรีทอาร์ตในจังหวัดภูเก็ตแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบของสตรีทอาร์ตที่ได้รับแนวความคิดที่สื่อถึงวิถีชีวิตชาวภูเก็ตและรูปแบบพิธีกรรมวัฒนธรรมความชื่อ เช่น เทศกาลเดินเต่า คือ ประเพณีการเดินหาไข่เต่าที่ขึ้นมาวางไข่บนหาดทราย โอต้าวหรือโอวต้าว คือ อาหารของชาวจีนฮกเกี้ยนเป็นอาหารพื้นเมืองประจำจังหวัดภูเก็ต ชุดเจ้าสาว คือ เสื้อลูกไม้สีขาวคอ ผ้าลายปาเต๊ะ เทศกาลกินเจ คือ ประเพณีที่ชาวจีนฮกเกี้ยนในภูเก็ตแสดงการเคารพบูชา รำลึกถึงบรรพบุรุษ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวภูเก็ตนับถือ เทศกาลตรุษจีน คือ วันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ประเพณีไหว้เทวดา คือ การไหว้ต้อนรับและขอบคุณเทวดาที่ช่วยพิทักษ์รักษามนุษย์ เทศกาลพ้อต่อหรือวันสารทจีนของจังหวัดภูเก็ต คือ เทศกาลงานบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษ  เซ่นไหว้บรรพบุรุษ และวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ด้วยเครื่องบวงสรวง ขนมเต่าสีแดงหรือที่เรียกว่า อั่งกู้ เชื่อว่าจะนำแก้วแหวนเงินทองและความเจริญรุ่งเรื่องมาให้ การทำพิธีต่าง ๆ จึงนิยมนำเต่ามาเป็นส่วนหนึ่งของพิธี

Downloads