การประเมินผลโครงการส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่นหญิงโดยบูรณาการเรื่องการดูแลก่อนตั้งครรภ์

Authors

  • เกสรา ศรีพิชญาการ ศูนย์วิจัยทางการผดุงครรภ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200
  • จริยาพร ศรีสว่าง ศูนย์วิจัยทางการผดุงครรภ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200

Abstract

การส่งเสริมพัฒนาการของทารกในครรภ์และการป้องกันความผิดปกติแต่กำเนิดด้วยการให้คำปรึกษาคู่สมรสนั้นมีอุปสรรคเรื่องการเข้าถึงบริการ การส่งเสริมสุขภาพสตรีวัยเจริญพันธุ์ให้พร้อมเสมอเมื่อมีการตั้งครรภ์เป็นแนวคิดใหม่ที่ช่วยลดอุปสรรคดังกล่าว ผู้เขียนจึงได้จัดโครงการส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่นหญิงโดยบูรณาการเรื่องการดูแลก่อนตั้งครรภ์ขึ้นแล้วมีการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อปรับปรุงแก้ไขสำหรับการดำเนินงานครั้งต่อไป ผู้เข้าร่วมโครงการเป็นนักเรียนหญิงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 205 คน (อายุ 12-14 ปี) กิจกรรมประกอบด้วยการคัดกรองสุขภาพและศึกษาบันเทิง 4 ฐานคือ อาหารมีประโยชน์ อาหารปลอดภัยและสิ่งที่ควรเลี่ยง วิตามินบี 9 และการคุมกำเนิด ตลอดจนการออกกำลังกายและคลายเครียด แต่ละคนเข้าร่วมกิจกรรม 1 ครั้ง ๆ ละ 3 ชั่วโมงโดยจัดให้เป็นกลุ่ม ๆ ละ 7-13 คน ก่อนและหลังจัดกิจกรรมทันทีมีการวัดความรู้และพฤติกรรม (ก่อนจัดกิจกรรมเป็นพฤติกรรมสุขภาพที่ปฏิบัติจริง ส่วนหลังจัดกิจกรรมเป็นพฤติกรรมที่ตั้งใจจะปฏิบัติ) ผู้จัดกิจกรรมเป็นนักศึกษาพยาบาล 30 คน มีอาจารย์พยาบาล 3 คน สังเกตการณ์เพื่อให้ข้อมูลป้อนกลับ ประสิทธิภาพของโครงการพบว่านักเรียนทุกคนเข้าร่วมกิจกรรมและมีคะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจ 80.20/100 (SD=13.95) ซึ่งเป็นไปตามตัวชี้วัด แต่ร้อยละ 95.6 ได้รับการคัดกรองสุขภาพ ซึ่งตัวชี้วัดกำหนดไว้ทุกคน  ด้านประสิทธิผลของโครงการ พบว่าจากสถิติ Paired t-test คะแนนเฉลี่ยความรู้และพฤติกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (p=.000) แต่ยังไม่ถึง 80/100 (ความรู้ M=77.60 SD=16.23; พฤติกรรม M=64.05 SD=16.46)  คะแนนความรู้ พฤติกรรม และความพึงพอใจมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ (r=.31-.44 p=.000) ในการจัดกิจกรรมครั้งต่อไปควรคัดกรองสุขภาพให้ครบทุกคนแล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อปรับเนื้อหาให้ตรงกับปัญหาที่สำรวจพบ ประเด็นที่ควรเพิ่มเติมคือค่าดัชนีมวลกายต่ำกว่าเกณฑ์ การรับประทานวิตามินบี 9 (ร้อยละ 36.9 ตั้งใจว่าจะไม่รับประทานวิตามินบี 9) จุดเด่นหรือความสามารถพิเศษ (ร้อยละ 61.1 คิดว่าไม่มีจุดเด่น) และ เพศสภาพ (ร้อยละ 24.2 มีความกังวลใจเรื่องนี้) นอกจากนั้นควรเพิ่มระยะเวลาในการจัดกิจกรรมและมีการประเมินประสิทธิผลระยะยาว

Downloads

Published

2019-03-30