ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในโครงการพัฒนาพื้นที่รอบวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชลบุรี

Authors

  • ธิติกร กิตตินันท์ สาขาวิชาการบริหารทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ภาคพิเศษ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
  • กิติชัย รัตนะ ภาควิชาอนุรักษวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
  • อภิชาต ภัทรธรรม สาขาวิชาการบริหารทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ภาคพิเศษ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

Abstract

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคม ระดับความคิดเห็น และเพื่อปัจจัยที่มีผลต่อความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในโครงการฯ ข้อมูลการศึกษารวบรวมโดยใช้แบบสอบถามประชาชนที่อาศัยโดยรอบพื้นที่โครงการฯ จำนวน 4 หมู่บ้าน รวม 356 ครัวเรือน วิธีวิเคราะห์ทางสถิติที่ใช้ทดสอบสมมติฐาน ได้แก่ สถิติ t-test และ F-test กำหนดนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่ระดับ 0.05 และการวิเคราะห์เปรียบเทียบพหุคูณ (Multiple comparison test)

ผลการศึกษาพบว่า ประชาชนที่ทำการศึกษาเป็นเพศชายและเป็นเพศหญิงในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน มีอายุเฉลี่ย 44.24 ปี มีการศึกษาระดับ ปวช./ปวท./ปวส./อนุปริญญา มีอาชีพรับจ้างทั่วไปเป็นอาชีพหลัก มีรายได้ของครัวเรือนต่อปีเฉลี่ย 144,856.74 บาท มีระยะเวลาการตั้งถิ่นฐานเฉลี่ย 35.06 ปี ส่วนใหญ่เคยได้รับข้อมูลข่าวสาร เคยได้รับการฝึกอบรม เคยได้รับประโยชน์จากโครงการฯ และมีความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าอยู่ในระดับมาก ประชาชนมีความคิดเห็นต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในโครงการที่ศึกษาอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย 3.81 โดยแยกเป็น (1) ความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินโครงการด้านป่าไม้อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย 3.82 (2) ความคิดเห็นเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการด้านป่าไม้อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย 3.86 (3) ความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินโครงการด้านสัตว์ป่าอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย 3.89 และ (4) ความคิดเห็นเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการด้านสัตว์ป่าอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย 3.65 สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ได้แก่อายุ อาชีพหลัก ประสบการณ์การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า และความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่า คือ อาชีพหลัก การได้รับประโยชน์จากโครงการ และประสบการณ์การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ซึ่งผลของการศึกษาเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติงานในโครงการฯ สามารถนำไปพัฒนาการบริหารจัดการให้เหมาะสมและเป็นไปตามความคิดเห็นของประชาชน

Downloads

Published

2019-03-29