การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนในพื้นที่ตำบลท่าศาลา

Authors

  • กัญพัชร์ โก่งเกษร คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
  • กิติชัย รัตนะ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
  • อภิชาต ภัทรธรรม คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคม ระดับการมีส่วนร่วม และปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนในพื้นที่ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ประชากรที่ใช้ในการศึกษาคือประชาชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยในบ้านหน้าทับหมู่ที่ 7 และบ้านแหลมหมู่ที่ 14 ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช รวม 2 หมู่บ้าน จำนวน 299 ครัวเรือน เก็บข้อมูลแต่ละหมู่บ้านแบบชั้นภูมิ (stratified sampling) ตามสัดส่วน (proportional allocation) ดังนี้ (1) บ้านหน้าทับ หมู่ที่ 7 จำนวน 131 ครัวเรือน และ (2) บ้านแหลม หมู่ที่ 14 จำนวน 168 ครัวเรือน โดยการรวบรวมแบบสอบถามเน้นการเก็บข้อมูลจากหัวหน้าครัวเรือนเป็นตัวแทนของครัวเรือนตัวอย่างที่มีความรู้ความเข้าใจเนื้อหาในแบบสอบถามมากที่สุดเป็นหลัก และวิธีวิเคราะห์ทางสถิติที่ใช้ทดสอบสมมติฐาน ได้แก่ ค่าสถิติ t-test และค่าสถิติ F-test กำหนดนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่ระดับ 0.05 และการวิเคราะห์เปรียบเทียบพหุคูณ (multiple comparison test)

ผลการศึกษา พบว่า ประชาชนที่ทำการศึกษาส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายุเฉลี่ย 45.99 ปี สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา     มีจำนวนสมาชิกและมีจำนวนแรงงานในครัวเรือนเฉลี่ย 4.20 และ 2.98 คน ตามลำดับ มีอาชีพรับจ้างทั่วไปเป็นอาชีพหลัก ส่วนใหญ่    มีอาชีพรอง มีรายได้รวมของครัวเรือนต่อปีเฉลี่ย 88,026.76 บาท มีภูมิลำเนาตั้งบ้านเรือนอยู่ดั้งเดิมในหมู่บ้าน มีระยะเวลาการตั้งถิ่นฐานเฉลี่ย 41.92 ปี มีความคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้น้อย ส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับการฝึกอบรม ไม่เคยมีประสบการณ์การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน และมีความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนปานกลาง ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนในพื้นที่ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.81 เมื่อวิเคราะห์เป็นรายด้าน พบว่า (1) การมีส่วนร่วมศึกษาปัญหา อยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.94 (2) การมีส่วนร่วมวางแผนงาน อยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.97 (3) การมีส่วนร่วมปฏิบัติงาน อยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.75 และ (4) การมีส่วนร่วมตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงาน อยู่ในระดับค่อนข้างน้อย มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.60 ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนในพื้นที่ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ จำนวนแรงงานในครัวเรือน ระยะเวลาการตั้งถิ่นฐาน ความคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ การได้รับการฝึกอบรม และความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน

Downloads

Published

2019-03-29