การศึกษาการออกแบบสื่อการเรียนคันจิด้วยเทคโนโลยี Augmented Reality

Authors

  • กัญญารัตน์ ทองชุม คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น กรุงเทพมหานคร 10250
  • สรมย์พร เจริญพิทย์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น กรุงเทพมหานคร 10250

Abstract

ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาต่างประเทศที่มีคนไทยนิยมเรียนเป็นอย่างมาก โดยมีการเปิดการเรียนการสอนทั้งในระดับมัธยมและมหาวิยาลัย แต่ปัญหาการเรียนภาษาญี่ปุ่นที่ผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันคือ การเรียนคันจิ โดยเฉพาะที่สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น นักศึกษาที่ต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นเป็นวิชาบังคับล้วนให้ความคิดเห็นว่าคันจิเป็นปัญหาสำคัญต่อการเรียนภาษาญี่ปุ่น ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาปัญหาและวิธีการเรียนคันจิของนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น และพยายามแก้ปัญหาการเรียนคันจิโดยเลือกใช้เทคโนโลยี Augmented Reality เข้ามาใช้ออกแบบสื่อการเรียนคันจิ เพื่อให้เหมาะสมกับวัยของนักศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนยุค Generation Z ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เติบโตมาในยุคดิจิตอล มีความสามารถในการเรียนรู้การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้รวดเร็ว ติดสังคมออนไลน์ และมักหาข้อมูลผ่านโลกออนไลน์มากกว่า โดยมีวัตถุประสงค์การวิจัย 1) เพื่อศึกษาปัญหาและพฤติกรรมการเรียนค้นจิของกลุ่มตัวอย่าง 2) เพื่อศึกษาการออกแบบสื่อการเรียนรู้คันจิโดยใช้เทคโนโลยี Augmented Reality จากการวิจัยโดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือพบว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ส่วนใหญ่อายุ 18-19 ปี อยู่ระดับชั้นปีที่ 1 สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นผู้ที่เกิดในยุค Generation Z ไม่มีพื้นฐานภาษาญี่ปุ่นมาก่อนเข้าศึกษาที่สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นและไม่เคยสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น ใช้ระบบปฏิบัติการ Android มากที่สุด และประสบปัญหาการเรียนคันจิในเรื่อง การอ่านคันจิไม่ออก, ไม่สามารถเขียนคันจิได้ และเขียนได้แต่ผิดลำดับ โดยวิธีการเรียนรู้คันจิที่นิยมใช้มากที่สุด คือ การฝึกเขียนลงสมุดบ่อยๆหรือฝึกเขียนในอากาศ, การเรียนรู้ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ และการเรียนรู้ผ่านการเล่มเกม  ซึ่งกลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นส่วนใหญ่ว่าแอพพลิเคชั่นเรียนคันจิจะมีส่วนช่วยให้การเรียนคันจิดีขึ้น ในระดับมาก ร้อยละ 41.1 โดยให้ความคิดเห็นถึงฟังก์ชันที่ควรมี 3 อันดับแรก ได้แก่ ภาพเคลื่อนไหวแสดงลำดับการเขียน, คำอ่านและคำแปลภาษาไทย และเสียงเจ้าของภาษา ในด้านการออกแบบสื่อการเรียนคันจิโดยใช้เทคโนโลยี Augmented Reality ผู้วิจัยคิดว่าเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับวัยกลุ่มตัวอย่างและควรนำมาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ ตื้นเต้น เร้าใจแก่ผู้เรียน โดยควรออกแบบให้มีฟังก์ชันตามที่ได้สำรวจมา ถึงแม้ เทคโนโลยี AR จะมีข้อจำกัดในด้านอุปกรณ์และสัญญาณอินเตอร์เน็ตแต่ผู้วิจัยเชื่อว่าข้อจำกัดเหล่านั้นจะไม่เป็นปัญหาต่อกลุ่มตัวอย่าง เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้ทุกคนมีสมาร์ทโฟน และเทคโนโลยี 3G, 4G ที่ครอบคลุมทุกพื้นที่และมีความเร็วที่เสถียรแล้วนั้น ข้อจำกัดเหล่านั้นจะมิเป็นปัญหาต่อการใช้งาน AR ในยุคสมัยนี้เลย

Downloads

Published

2018-03-01