การศึกษาและประเมินคุณค่าทรัพยากรวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของชุมชน เทศบาลตำบลระโนด อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

Authors

  • เสริมศักดิ์ ขุนพล สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์ สารสนเทศศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 90000
  • ฟารีดา เจะเอาะ สาขาวิชานิเทศศาสตร์ สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช 80161

Abstract

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสานวิธี (Mixed method) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและประเมินความสำคัญของทรัพยากรวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของชุมชนเทศบาลระโนด อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา โดยการศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ชุมชนเทศบาลระโนด จังหวัดสงขลา ได้แก่ ชาวบ้านในชุมชนเทศบาลระโนด ผู้นำชุมชน และนักท่องเที่ยว จำนวน 45 คน และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม ใช้การเลือกตัวอย่างแบบสโนว์บอล (Snowball Sampling) และแบบสอบถามการประเมินคุณค่าทรัพยากรวัฒนธรรมของชาวบ้านในชุมชนเทศบาลระโนด 8 ชุมชน จำนวน 363 คน

ผลการวิจัย พบว่า ทรัพยากรวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของชุมชนเทศบาลระโนดที่สำคัญๆ มีทั้งหมด 13 รายการ ได้แก่ พื้นที่และอาคารบ้านเรือนริมคลองระโนด ประเพณีลากพระทางน้ำ อาหารการกิน การเป็นเมืองทางผ่านทางคมนาคม การประกอบอาชีพและงานฝีมือ การทำนา การประกอบอาชีพค้าขายในชุมชน  ตลาดน้ำคลองระโนด การละเล่นมโนราห์และหนังตะลุง การศึกษาของคนระโนด ศาสนา (วัดและศาลเจ้า) ประเพณีข้าวหม้อแกงหม้อ กิจกรรมกีฬาสัมพันธ์ 8 ชุมชน และศูนย์ศิลปวัฒนธรรมและสวนบุรพาจารย์ โดยทรัพยากรวัฒนธรรมแต่ละประเภทสามารถปรับใช้ให้เข้ากับกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมในการออกแบบและเกิดทักษะในการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน สำหรับการนำเสนอทรัพยากรเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์นั้น ควรใช้การสื่อสารเรื่องเล่าผ่านบุคคลหรือคำบอกเล่าของคนภายในชุมชน โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่มีอยู่จำนวนมากซึ่งเป็นบุคคลที่สามารถสร้างความผูกพันกับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี นักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านไปจังหวัดอื่นๆ  และกลุ่มผู้ที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ ส่วนเนื้อหาที่นำเสนอควรเป็นเรื่องราวของทรัพยากรวัฒนธรรมที่นักท่องเที่ยวสามารถมีประสบการณ์ร่วมได้ และได้มองเห็นการเชื่อมโยงของพลวัตรของชุมชนจากอดีตจนถึงปัจจุบันในขณะที่ตนมีประสบการณ์ร่วมกับคนในชุมชน

Downloads

Published

2018-03-01