ผลของการเลี้ยงขุนปูทะเล (Scylla spp.) เนื้อโพรกในบ่อซีเมนต์ และความน่าลงทุนในการเลี้ยงปูทะเลแบบพัฒนาในกล่องแยกเลี้ยงเดี่ยว

Authors

  • นฤชล ภัทราปัญญาวงศ์ สถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม
  • วีรกิจ จรเกตุ สถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม
  • ปิยะวัฒน์ พรหมรักษา สถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม

Abstract

ปูทะเลเป็นสัตว์น้ำที่มีมูลค่าสูง เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ปูทะเลเจริญเติบโตโดยการลอกคราบ ซึ่งทำให้ปูทะเลมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่มีน้ำหนักเบา เพราะมีเนื้อน้อยจึงไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค เรียกปูลักษณะนี้ว่า ปูเนื้อโพรก นอกจากนี้ยังรวมไปถึงปูเพศเมียที่รังไข่ (ovary) ยังพัฒนาไม่เต็มที่ (ปูไข่อ่อน)ด้วย เกษตรกรจะนำปูทะเลเหล่านี้มาเลี้ยงขุนให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น โดยมักปล่อยลงเลี้ยงรวมกันในบ่อดิน แต่การเลี้ยงเช่นนี้ ปูทะเลจะมีอัตรารอดน้อยกว่าการเลี้ยงในระบบปิด

การศึกษาอัตราการเจริญเติบโตของการเลี้ยงปูทะเล (Scylla spp.) เนื้อโพรกในกล่องพลาสติกที่ลอยบนแพพีวีซีในบ่อซีเมนต์ อัตราหนาแน่น 11.26 ตัวต่อลูกบาศก์เมตร พบว่า ปูทะเลแต่ละตัวมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.09-32.12 มีอัตรารอดตาย ร้อยละ 83.33-92.68 ซึ่งสูงกว่าอัตราการจับคืนของการเลี้ยงปูทะเลในบ่อดิน อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อ (FCR) มีค่าระหว่าง 9.82-12.19

ในการลงทุนเลี้ยงปูทะเลในกล่องแยกเลี้ยงเดี่ยววางลอยบนแพพีวีซีในบ่อซีเมนต์ ต้นทุนกว่าครึ่งจะเป็นการลงทุนเกี่ยวกับที่ดิน โรงเรือน และการสร้างบ่อซีเมนต์ เกษตรกรอาจประยุกต์โดยใช้บ่อลักษณะอื่น เช่น บ่อไฟเบอร์ หรือบ่อผ้าใบ แต่อายุการใช้งานก็จะสั้นกว่าบ่อซีเมนต์ ส่วนการเลี้ยงปูทะเลในกล่องแยกเลี้ยงเดี่ยวแบบแนวตั้ง แม้ว่าจะสามารถเลี้ยงปูทะเลได้จำนวนมากในพื้นที่จำกัด แต่มีต้นทุนค่าอุปกรณ์สำหรับการเลี้ยงค่อนข้างสูง หากเทียบจำนวนกล่องที่เท่ากัน อุปกรณ์สำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำในแนวตั้งจะมีราคาสูงกว่ากล่องลอยในบ่อซีเมนต์กว่าหนึ่งเท่า นอกจากที่กล่าวมาแล้ว เกษตรกรยังต้องมีเงินหมุนเวียนสำหรับค่าวัตถุดิบพันธุ์ปูทะเล และอาหารด้วย

การประกอบธุรกิจการเลี้ยงปูทะเล มักประสบปัญหาขาดแคลนพันธุ์ปูทะเล ทำให้การดำเนินงานไม่ต่อเนื่อง ผลผลิตจากการเลี้ยงขุนปูทะเล จะขึ้นอยู่กับการเอาใจใส่โดยเฉพาะเรื่องการให้อาหาร และการจัดการคุณภาพน้ำ ระดับของแอมโมเนียในน้ำสัมพันธ์กับความหนาแน่นของปูทะเลที่เลี้ยง ปริมาณอาหารที่ให้จึงควรพอดีกับความต้องการของปูทะเล เพื่อไม่ให้เกิดการเน่าเสีย บางครั้งพบว่า กระดองและรยางค์ของปูทะเลเกิดการสึกกร่อน รยางค์หลุดง่าย ลอกคราบไม่ออก ตายระหว่างลอกคราบ หรือเมื่อลอกคราบแล้วมีรยางค์ไม่สมบูรณ์ บางตัวมีการแสดงอาการโรค และปรสิต ทำให้ปูทะเลมีอาการอ่อนแอ ไม่กินอาหาร และตายในที่สุด

Downloads