วิธีการสกัดสารสกัดหยาบจากพรอพอลิสของชันโรงที่มีผลต่อการยับยั้งการเจริญของเชื้อราก่อโรคผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว

Authors

  • วชิราภรณ์ ฟูนัน สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10220

Abstract

ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น มีความหลากหลายทางชีวภาพของผลไม้ชนิดต่าง ๆ มีการส่งออกผลไม้ต่อปีในปริมาณมาก ส่งผลให้เกิดการใช้สารเคมีในการควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคหลังการเก็บเกี่ยวในปริมาณสูง ทำให้เกิดสารตกค้างในผลไม้เหล่านั้นตามมา การใช้สารควบคุมเชื้อราจากธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค พรอพอลิสมีองค์ประกอบหลักเป็นยางไม้ที่แมลงในกลุ่มผึ้งและชันโรงเก็บมาเพื่อใช้ในการสร้างรัง และคาดว่าจะมีองค์ประกอบเป็นสารในกลุ่มฟีนอลิก ซึ่งมีรายงานฤทธิ์การยับยั้งเชื้อราและแบคทีเรีย แต่เนื่องจากการสกัดสารออกฤทธิ์จากพรอพอลิสเป็นสิ่งที่ยาก งานวิจัยนี้จึงมีจุดประสงค์ที่จะเปรียบเทียบประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบพรอพอลิสที่สกัดด้วยตัวทำละลาย 3 ชนิด คือ อะซิโตน เอทานอล และเมทานอล และวิธีการสกัดที่แตกต่างกัน 2 วิธี คือ การเขย่า (shaking) และการกวน (stirring) ในอัตราส่วน 1:10 โดยน้ำหนักต่อปริมาตร เป็นเวลา 3 วัน จะได้สารสกัดหยาบพรอพอลิส 6 ชนิด เปรียบเทียบน้ำหนักผลผลิตที่ได้ พบว่าการใช้เมทานอลในการสกัดสารจากพรอพอลิสให้น้ำหนักผลผลิตมากที่สุด รองลงมาคือ เอทานอล และอะซิโตน ส่วนวิธีการสกัดโดยการเขย่าและการกวนให้ค่าร้อยละของผลผลิตสารสกัดหยาบไม่แตกต่างกัน เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อราสาเหตุโรคแอนแทรกโนส (Colletotrichum sp.) และโรคขั้วหวีเน่า (Fusarium sp.) ที่แยกได้จากกล้วยน้ำว้า แบบ  in vitro ที่ความเข้มข้นร้อยละ 5 โดยน้ำหนักต่อปริมาตร พบว่าสารสกัดหยาบพรอพอลิสที่สกัดด้วยเมทานอลโดยการกวน (PME-St) ให้ค่าการยับยั้งสูงที่สุดที่ร้อยละ 48.08 และ 19.41 ตามลำดับ โดยที่สารสกัดพรอพอลิสที่สกัดด้วยเอทานอลให้ค่าร้อยละการยับยั้งเฉลี่ยรวมสูงที่สุด และวิธีการสกัดสารสกัดหยาบจากพรอพอลิสแบบการกวนให้ค่าเฉลี่ยรวมของการยับยั้งเชื้อราสูงกว่าการสกัดแบบเขย่าอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น หากชาวสวนผลไม้ต้องการสกัดสารจากพรอพอลิสควรเลือกใช้วิธีการสกัดแบบการกวนและควรใช้ตัวทำละลายเอทานอลซึ่งหาได้ง่ายและให้ประสิทธิภาพการยับยั้งเชื้อราสาเหตุโรคแอนแทรกโนสและโรคขั้วหวีเน่าในกล้วยน้ำว้าได้สูงกว่า  

Downloads