การประยุกต์ใช้วิตามินซีจากผลไม้ไทยในผลิตภัณฑ์มาร์คหน้ากลางคืน

Authors

  • กรรณิการ์ ลาทอง สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กรุงเทพมหานคร 10220
  • พนิดา แสนประกอบ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กรุงเทพมหานคร 10220

Abstract

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความสามารถในการยับยั้งอนุมูลอิสระของผลไม้ไทยบางชนิด 2) ศึกษาปริมาณสารประกอบฟีนอลิกรวมของผลไม้ไทยบางชนิด 3) หาปริมาณวิตามินซีจากผลไม้ไทยบางชนิด และ 4) พัฒนาตำรับผลิตภัณฑ์มาร์คหน้ากลางคืนด้วยวิตามินซีจากผลไม้ไทย งานวิจัยนี้ได้ศึกษาผลไม้ไทยทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ ชมพู่พลาสติก ส้มโอ ตะลิงปลิง สับปะรด และมะขามป้อม โดยนำผลไม้สดมาอย่างละ 100 กรัม คั้นน้ำสดก่อนนำไปวิเคราะห์ ผลการวิจัยพบว่า ผลผลิตร้อยละของ ส้มโอ เท่ากับ 57.70% รองลงมาได้แก่ มะขามป้อม เท่ากับ 49.45%, สับปะรด เท่ากับ 45.47%, ตะลิงปลิง เท่ากับ 41.71% และชมพู่พลาสติก เท่ากับ 35.84% การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยใช้วิธี DPPH radical scavenging พบว่า มะขามป้อมมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุดโดยมีค่า IC50 เท่ากับ 6.13±0.00 %v/v รองลงมาได้แก่ ชมพู่พลาสติก (6.72±0.12 %v/v), ส้มโอ (9.19±0.04 %v/v), ตะลิงปลิง (14.38±0.08 %v/v) และ สับปะรด (14.38±0.08 %v/v) การวิเคราะห์ปริมาณสารประกอบฟีนอลิกรวม โดยใช้วิธี Folin-Ciocalteu reagent พบว่า ส้มโอมีปริมาณสารประกอบฟีนอลิกรวมมากที่สุด (183.46±0.04 ไมโครกรัมแกลลิคแอซิคต่อมิลลิกรัมสารสกัด) รองลงมาได้แก่ สับปะรด (172.30±0.16 ไมโครกรัมแกลลิคแอซิคต่อมิลลิกรัมสารสกัด), ตะลิงปลิง (110.38±0.21 ไมโครกรัมแกลลิคแอซิคต่อมิลลิกรัมสารสกัด), มะขามป้อม (62.69±0.12 ไมโครกรัมแกลลิคแอซิคต่อมิลลิกรัมสารสกัด) และ ชมพู่พลาสติก (6.72±0.09 ไมโครกรัมแกลลิคแอซิคต่อมิลลิกรัมสารสกัด) การวิเคราะห์หาปริมาณวิตามินซี ด้วยวิธีไทเทรตกับสารละลายไอโอดีน พบว่า มะขามป้อม มีปริมาณวิตามินซีมากที่สุด เท่ากับ 0.70±0.00 โมลต่อลูกบาศก์เดซิเมตร, รองลงมาได้แก่ ตะลิงปลิง (0.32±0.00 โมลต่อลูกบาศก์เดซิเมตร), ชมพู่พลาสติก (0.17±0.00 โมลต่อลูกบาศก์เดซิเมตร), สับปะรด (0.15±000 โมลต่อลูกบาศก์เดซิเมตร) และ ส้มโอ (0.10±0.00 โมลต่อลูกบาศก์เดซิเมตร) จะเห็นว่าผลไม้ไทยทั้ง 5 ชนิด มีความสามารถในการทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระและมีสารประกอบฟีนอลิกเป็นองค์ประกอบ ผู้วิจัยได้ทำการคัดเลือกผลไม้ไทยมาเพียงชนิดเดียวเพื่อพัฒนาตำรับผลิตภัณฑ์มาร์คหน้ากลางคืน ได้แก่ มะขามป้อม เนื่องจากมะขามป้อมมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระสูงสุดและมีพบปริมาณวิตามินซีมากที่สุด เมื่อเทียบกับ 4 ชนิด จากการวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของผลิตภัณฑ์ พบว่า มีค่าความเป็นกรดด่างเท่ากับ 5.56 เมื่อทดสอบการแยกชั้นหรือตกตะกอนพบว่าไม่มีการแยกชั้นของเนื้อผลิตภัณฑ์ และจากผู้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์มีความพึงพอใจในระดับมากทั้งในเรื่องของเนื้อสัมผัสนุ่มและความสามารถในการซึมสู่ผิวได้ง่าย

Downloads