ความสัมพันธ์ระหว่างช่วงอายุกับเหตุการณ์รุนแรงของหัวใจในผู้ป่วยสูงอายุที่มีภาวะกลุ่มอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่ได้รับการทำหัตถการหลอดเลือดโคโรนารีย์ผ่านสายสวนทางผิวหนัง ขณะพักรักษาในโรงพยาบาล
Keywords:
การทำหัตถการหลอดเลือดโคโรนารีย์ผ่านสายสวนทางผิวหนัง, ช่วงวัยผู้สูงอายุ, เหตุการณ์รุนแรงของหัวใจAbstract
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างช่วงอายุกับเหตุการณ์รุนแรงของหัวใจในผู้ป่วยสูงอายุที่มีภาวะกลุ่มอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่ได้รับการทำหัตถการหลอดเลือดโคโรนารีย์ผ่านสายสวนทางผิวหนัง ขณะพักรักษาในโรงพยาบาล โดยมีรูปแบบการศึกษาชนิดการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ชนิดภาคตัดขวาง ใช้ข้อมูลทุติยภูมิของกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 179 รายของโรงพยาบาลระดับตติยภูมิแห่งหนึ่ง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนาประกอบด้วย ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่ามัธยฐาน วิเคราะห์ความความสัมพันธ์ด้วยสถิติความถดถอยโลจิสติคทวิ จากผลการศึกษาครั้งนี้ พบว่ากลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 179 ราย เป็นเพศชายร้อยละ 67 อายุเฉลี่ย 70.38 ± 8.40 ปี (60 - 96 ปี) ผลการศึกษาความชุกการเกิดเหตุการณ์รุนแรงของหัวใจพบมีจำนวน 115 ราย คิดเป็นร้อยละ 64.2 จำแนกความชุกตามชนิดเหตุการณ์รุนแรงของหัวใจที่พบมากที่สุด 3 ลำดับแรกได้แก่ ช็อกจากหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจหยุดเต้น คิดเป็นร้อยละ 28.5, 20.1 และ 8.4 ตามลำดับ แนวโน้มการเกิดเหตุการณ์รุนแรงของหัวใจพบในผู้สูงอายุวัยกลาง (70 - 79ปี) 1.4 เท่า (OR 1.433, 95 %CI 0.728:2.832, p = 0.298) และผู้สูงอายุวัยปลาย (≥ 80 ปี) 1.5 เท่า (OR 1.5, 95 %CI 0.590:3.815, p = 0.395) เมื่อเปรียบเทียบกับผู้สูงอายุวัยต้น (60 - 69 ปี) และการเกิดเหตุการณ์รุนแรงของหัวใจภายหลังการทำหัตถการหลอดเลือดโคโรนารีย์ผ่านสายสวนทางผิวหนัง ในผู้สูงอายุวัยปลายคิดเป็น 3.2 เท่า (OR 3.192, 95 %CI (1.123:9.073, p = 0.029) เมื่อเปรียบเทียบกับผู้สูงอายุวัยต้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากผลการศึกษาครั้งนี้ บ่งชี้ว่าผู้สูงอายุยิ่งอายุเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ ≥70 ปีเป็นต้นไป ควรได้รับการคัดกรองการเกิดเหตุการณ์รุนแรงของหัวใจทั้งก่อน-ขณะ-และหลังการทำหัตถการหลอดเลือดโคโรนารีย์ผ่านสายสวนทางผิวหนังอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันการเสียชีวิตและภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง