ประสิทธิผลของโปรแกรมการอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพการบันทึกทางการพยาบาลหอผู้ป่วยในและห้องคลอด โรงพยาบาลบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Keywords:
โปรแกรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ, คุณภาพการบันทึกทางการพยาบาลAbstract
การศึกษากึ่งทดลองแบบกลุ่มเดียว วัดผลก่อน-หลัง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมการอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพการบันทึกทางการพยาบาล กลุ่มตัวอย่างเป็นพยาบาล จำนวน 30 คน และเวชระเบียนจากการสุ่ม จำนวน 100 ชุด ซึ่งเป็นเวชระเบียนที่มีระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล ไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ 1) โปรแกรมการอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพการบันทึกทางการพยาบาล สร้างโดยผู้วิจัย ซึ่งมีทั้งการบรรยายและการอบรมเชิงปฏิบัติการ (CVI = 0.90) 2) แบบสอบถามความรู้เกี่ยวกับการบันทึกทางการพยาบาลแบบชี้เฉพาะ (CVI = 0.90, KR-20 = 0.72) 3) แบบประเมินความพึงพอใจในโปรแกรมการอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพการบันทึกทางการพยาบาล (CVI = 0.85) 4) แบบบันทึกความสมบูรณ์ของการบันทึกทางการพยาบาล เป็นแบบประเมินมาตรฐานตามตัวชี้วัดของโรงพยาบาลและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถิติที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ สถิติเชิงพรรณนา และใช้ Wilcoxon Signed Rank Test และ Mann-Whitney U test ในการวิเคราะห์ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยในกลุ่มเดียวกัน
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 30.33±9.37 ปี ระยะเวลาในการทำงานเฉลี่ย 7.73±9.83 ปี และประสบการณ์การบันทึกทางการพยาบาลเฉลี่ย 7.63±9.79 ปี ความรู้เกี่ยวกับการบันทึกทางการพยาบาลแบบชี้เฉพาะของกลุ่มตัวอย่างก่อนและหลังได้รับโปรแกรมฯ เฉลี่ย 7.97±1.61 และ 9.20±0.61 คะแนน ตามลำดับ โดยความรู้หลังการได้รับโปรแกรมการอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพการบันทึกทางการพยาบาล สูงกว่าก่อนได้รับการอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.01) ความสมบูรณ์ของการบันทึกทางการพยาบาลทุกประเด็นทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพหลังทดลองสูงกว่าก่อนทดลองแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p > 0.05) และกลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจอยู่ในระดับสูงและสูงมาก ร้อยละ 56.67 และ 43.33 ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องควรนำโปรแกรมการอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพการบันทึกทางการพยาบาล ไปพัฒนาคุณภาพการบันทึกทางการพยาบาล เพื่อทำให้พยาบาลบันทึกได้ถูกต้อง ครอบคลุม และตระหนักในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น