การขยายพันธุ์และผลของอายุการเก็บเกี่ยวต่อปริมาณสารประกอบฟินอลิกทั้งหมด และฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของมันเลือด

Authors

  • ศศิธร อินทร์นอก สาขาชีววิทยาประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 30000
  • จิรายุส วรรัตน์โภคา สาขาชีววิทยาประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 30000

Keywords:

มันเลือด, อายุการเก็บเกี่ยว, สารประกอบฟินอลิกทั้งหมด, ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

Abstract

มันเลือด (Dioscorea alata L.) อยู่ในวงศ์ Dioscoreaceae เป็นมันพื้นบ้านที่สามารถพบได้ในทุกภาคของประเทศไทย ปลูกง่าย มีหัวใต้ดินไว้บริโภคและขยายพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่ผู้คนมักขุดหัวใต้ดินมาบริโภคโดยไม่ปลูกทดแทนทำให้มันเลือดอาจมีโอกาสสูญพันธุ์ได้ มันเลือดมีสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน นอกจากนี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งมักพบในผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการขยายพันธุ์มันเลือด และศึกษาการเจริญเติบโตเป็นเวลา 20 สัปดาห์ โดยแบ่งเป็น 4 ชุดการทดลอง ในระดับกระถางและแปลงทดลอง ได้แก่ 1) ไม่ใส่ปุ๋ย 2) ใส่ปุ๋ยมูลวัว 3) ใส่ปุ๋ยเคมี และ 4) ใส่ปุ๋ยมูลวัวร่วมกับปุ๋ยเคมี จากผลการศึกษาพบว่า ในระดับกระถาง การใส่ปุ๋ยเคมีมีผลให้จำนวนต้นเพิ่มขึ้น โดยชุดการทดลองที่มีปุ๋ยเคมีเป็นส่วนประกอบจะส่งเสริมการเจริญเติบโตของมันเลือดทั้งด้านความสูงและจำนวนใบมากกว่าการใช้ปุ๋ยมูลวัวเพียงอย่างเดียว และการไม่ใส่ปุ๋ยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) ในระดับแปลงทดลอง ชุดการทดลองที่มีการใส่ปุ๋ยมูลวัวร่วมกับปุ๋ยเคมีมีแนวโน้มที่จะส่งเสริมการเจริญเติบโตของมันเลือดมากกว่าชุดการทดลองอื่นๆ แต่การเจริญเติบโตของมันเลือดน้อยกว่าระดับกระถาง เนื่องจากการเจริญเติบโตจะขึ้นอยู่กับธาตุอาหารและความสมบูรณ์ของดินในแปลงทดลองร่วมด้วย เมื่อนำส่วนหัวใต้ดินมาชั่งน้ำหนัก พบว่า ได้ปริมาณผลผลิตสอดคล้องกันทั้ง 2 ระดับการทดลอง โดยชุดการทดลองที่ใส่ปุ๋ยเคมีจะให้น้ำหนักของส่วนหัวใต้ดินมากที่สุด รองลงมา คือ ชุดการทดลองที่ใส่ปุ๋ยมูลวัวร่วมกับปุ๋ยเคมี ชุดการทดลองที่ใส่ปุ๋ยมูลวัวเพียงอย่างเดียว และชุดการทดลองที่ไม่ใส่ปุ๋ย ตามลำดับ นอกจากนี้ยังศึกษาผลของอายุการเก็บเกี่ยวต่อปริมาณสารประกอบฟินอลิกทั้งหมด และฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของมันเลือดอายุ 6 เดือน และ 12 เดือน ด้วยวิธี 2,2- Diphenyl-1-picrylhydrazyl (DPPH) radical scavenging activity, 2,2’-azino-bis (3-ethylbenzthiazoline-6-sulphonic acid) (ABTS) radical decolorization assay และ Ferric ion reducing antioxidant power (FRAP) assay พบว่า มันเลือดอายุ 12 เดือน มีปริมาณสารประกอบฟินอลิกทั้งหมด และฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH, ABTS และ FRAP สูงกว่ามันเลือดที่มีอายุ 6 เดือน

Downloads

Published

2022-09-15

How to Cite

อินทร์นอก ศ. ., & วรรัตน์โภคา จ. . (2022). การขยายพันธุ์และผลของอายุการเก็บเกี่ยวต่อปริมาณสารประกอบฟินอลิกทั้งหมด และฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของมันเลือด. Science, Technology, and Social Sciences Procedia, 2022(4), rspg073. Retrieved from https://wjst.wu.ac.th/index.php/stssp/article/view/25722