การเปรียบเทียบสายพันธุ์ถั่วฝักยาวในสภาพแล้ง

Authors

  • ปราโมทย์ พรสุริยา คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี 20110
  • ปฏิยุทธ์ ขวัญอ่อน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี 20110
  • อภิสิทธิ์ ชิตวณิช คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี 20110
  • สุพรรษา ชินวรณ์ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี 20110

Keywords:

ถั่วฝักยาว, การเปรียบเทียบสายพันธุ์, การวิเคราะห์เส้นทาง, สภาพแล้ง

Abstract

จากการที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ได้ดำเนินโครงการเก็บรวบรวมพันธุ์ถั่วฝักยาวพันธุ์ท้องถิ่นในเขตจังหวัดชลบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ และได้ทำการผสมพันธุ์และคัดเลือกสายพันธุ์แบบต้นต่อแถว นำสายพันธุ์ต่างๆ ที่รวบรวมมาจำนวน 36 จีโนไทป์มาปลูกทดสอบในสภาพแล้ง โดยสุ่มในแผนการทดลองแบบซิมเปิ้ลแลททิช (6 x 6 simple lattice design) ทำ 2 เซ็ท จำนวน 4 สแควร์ (4 ซ้ำ) ปลูกทดลองในถุงปลูกในในโรงเรือนที่ป้องกันฝน จำลองการทดลองในสภาพการขาดน้ำ (drought stress; DS) โดยมีการให้น้ำให้มีความชื้นระหว่าง 80 - 100 เปอร์เซ็นต์ของความจุความชื้นสนาม (field capacity) ตั้งแต่ปลูกจนถึงอายุ 30 วัน หลังจากนั้นจึงควบคุมการให้น้ำโดยให้มีความชื้นต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของความจุความชื้นสนาม ตลอดการเก็บเกี่ยว ผลการทดลองพบว่าสายพันธุ์ถั่วฝักยาวมีความแตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ในลักษณะความกว้างฝัก น้ำหนักฝัก และผลผลิตต่อต้น และที่ระดับนัยสำคัญ 0.01 ในลักษณะปริมาณคลอโรฟิลด์ที่ใบ ความยาวต้น อายุดอกแรกบาน และความยาวฝัก โดยมีสายพันธุ์ที่น่าสนใจที่ให้ผลผลิตฝักสดต่อต้นได้สูงในสภาพแล้ง ได้แก่ สายพันธุ์ No.33P, BP2, P10T26, BP1, No.37G และ No.30P จากโมเดลการวิเคราะห์เส้นทาง (path analysis) ของถั่วฝักยาวทั้ง 36 สายพันธุ์ พบว่าปริมาณคลอโรฟิลด์ที่ใบและจำนวนเมล็ดต่อฝักมีอิทธิพลโดยอ้อมต่อผลผลิตต่อต้น (0.074 และ 0.136 ตามลำดับ) โดยผ่านทางความยาวฝักและน้ำหนักฝัก ความกว้างฝักมีอิทธิพลโดยอ้อมต่อผลผลิตต่อต้น (0.230) ผ่านทางน้ำหนักฝัก ความยาวฝักมีอิทธิพลโดยอ้อมต่อผลผลิตต่อต้น (0.289) ผ่านทางน้ำหนักฝัก จำนวนฝักต่อต้นและน้ำหนักฝักมีอิทธิพลโดยตรงต่อผลผลิตต่อต้น (0.912 และ 0.417 ตามลำดับ) โดยทั้ง 6 ลักษณะ ได้แก่ ปริมาณคลอโรฟิลด์ที่ใบ จำนวนเมล็ดต่อฝัก ความกว้างฝัก ความยาวฝัก น้ำหนักฝัก และจำนวนฝักต่อต้น สามารถอธิบายความแปรปรวนของลักษณะผลผลิตต่อต้นได้ 94.6 เปอร์เซ็นต์ โดยลักษณะที่มีอิทธิพลสูงสุดคือจำนวนฝักต่อต้น รองลงมาคือน้ำหนักฝัก และความยาวฝัก ตามลำดับ จากผลการศึกษาครั้งนี้จึงมีประโยชน์ต่อการคัดเลือกสายพันธุ์และการปรับปรุงพันธุ์ถั่วฝักยาวที่ทนต่อสภาพแล้งต่อไป

Downloads

Published

2022-09-14

How to Cite

พรสุริยา ป., ขวัญอ่อน ป., ชิตวณิช อ. ., & ชินวรณ์ ส. . (2022). การเปรียบเทียบสายพันธุ์ถั่วฝักยาวในสภาพแล้ง. Science, Technology, and Social Sciences Procedia, 2022(4), rspg010. Retrieved from https://wjst.wu.ac.th/index.php/stssp/article/view/25701