ป้ายอัจฉริยะเชื่อมโยงการท่องเที่ยววิถีชุมชน

Authors

  • ธิรนันท์ วัฒนโยธิน
  • นุชากร คงยะฤทธิ์

Abstract

การบริการวิชาการป้ายอัจฉริยะเชื่อมโยงการท่องเที่ยววิถีชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจและรวบรวมข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ตลอดจนสามารถจัดทำแผนที่เส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรเชื่อมโยงสู่การเรียนรู้วิถีชุมชนด้วยเทคโนโลยีในการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ร่วมทั้งสร้างการรับรู้ข้อมูล และเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มากยิ่งขึ้น ซึ่งจากการลงพื้นที่ดำเนินงาน พบว่า มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีการดำเนินงานอยู่หลายกลุ่ม หลายศูนย์เรียนรู้ ที่มีจุดเด่นในการนำเสนอข้อมูล ฐานเรียนรู้ต่างๆ ตลอดจนกิจกรรมที่จัดขึ้นภายในศูนย์เรียนรู้ แต่ในขณะเดียวกันศูนย์การเรียนรู้เหล่านี้ก็ยังขาดการเก็บรวบรวมข้อมูล การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ในด้านเส้นทางที่ใช้ในการท่องเที่ยว ศูนย์การเรียนรู้บางศูนย์อาจไม่เป็นที่รู้จักเลยก็เป็นได้และผู้ให้บริการวิชาการและชุมชนจึงมองว่าควรจะมีการรวบรวมข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว การเดินทาง คำแนะนำ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตลอดจนกิจกรรมที่จัดขึ้นในแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ มาบรรจุไว้ในรูปเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกด้านข้อมูลให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งขั้นตอนในการศึกษาเริ่มตั้งแต่การลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในพื้นที่อำเภอนาบอน การมีส่วนร่วมในการระดมความคิดในการจัดการเส้นทางท่องเที่ยว กิจกรรมในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร กำหนดเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงเกษตร พร้อมกับการสำรวจ รวบรวมข้อมูลเส้นทางที่กำหนดไว้ เพื่อระบุพิกัด แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และนำข้อมูลที่ได้รับมาออกฐานข้อมูลในเว็บไชต์ Wix.com เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ในรูปแบบเทคโนโลยี และออกแบบ พัฒนาแผนที่เส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยววิถีชุมชนในรูปแบบป้ายอัจฉริยะเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยววิถีชุมชน ซึ่งผลที่เกิดขึ้นนั้นมีประโยชน์กับกลุ่มท่องเที่ยวเชิงเกษตรนาบอนในการนำเสนอแผนที่เส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่สามารถเชื่อมโยงสู่การเรียนรู้วิถีชุมชนได้ และเข้าใจถึงบริบทพื้นที่ ความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างแท้จริง และเป็นการศึกษาอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนโดยที่มีส่วนร่วมกันศึกษาข้อมูล สำรวจ รวบข้อมูล กำหนดจุดเพื่อการเรียนรู้ จนกระทั่งได้แผนที่เส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตร และได้นำเสนอผลงานต่อที่ประชุม ซึ่งมีชุมชนกลุ่มเป้าหมายท่องเที่ยวเชิงเกษตร และเกษตรอำเภอได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสรุปผลการดำเนินงาน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวมีการจัดทำสื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ข้อมูลการเกษตรอยู่อย่างต่อเนื่องเช่นกัน และในทางวิชาการของผู้บริการวิชาการได้นำความรู้ในเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี กระบวนการทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงาน  และรวบรวมข้อมูลการบริการวิชาการในรูปแบบกรณีศึกษาเพื่อใช้ในการเรียนการสอน พร้อมทั้งส่งเสริม สนับสนุนให้นักศึกษาลงไปในพื้นที่จริง สภาพแวดล้อมในการทำงานจริง เพื่อได้เข้าใจประเด็นการทำงานร่วมกับชุมชนที่มากยิ่งขึ้น

Downloads